วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 28, 2554

มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ

มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ


วันพฤหัสบดีที่ 01 มกราคม 2009 เวลา 00:00 น.

โดย ดร. มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ

เรา เคยพบเพื่อนร่วมงานที่เวลาอยู่ในที่ประชุม ไม่แสดงความคิดเห็น แต่อาจกระซิบกระซาบกับคนข้างๆ แล้วพอออกมานอกห้องประชุมก็มาชวนคนนั้นคนนี้คิดให้แตกต่างจากที่ประชุมสรุป ซึ่งบางครั้งสุดท้ายก็คว่ำมติที่ประชุม ...อาการนี้แลที่ที่บางคนเรียกขานว่า “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ”

พอเราไปสัมภาษณ์คนทำพฤติกรรมนี้ เขาบอกว่าไม่มีพื้นที่ให้พูดบ้าง พูด ไม่ทันบ้าง ไม่สามารถแทรกแนวคิดได้ ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นบ้าง ถึงแม้พูดไปเขาก็ไม่ฟังเราบ้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าเห็นใจทีเดียว เมื่อเราอยู่ในที่ประชุมที่มีคนพูดเก่ง นำเสนอเร็ว หรือมีคนผูกขาดทางการพูดนั้น การจะนำเสนอไอเดียในที่ประชุมจึงเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้ผู้เขียนเคยเขียนในบทความเดิมๆแล้วว่าผู้นำประชุมสามารถช่วยได้ เมื่อเห็นว่าบางคนอาจมีไอเดียแต่แทรกไม่ทัน โดยการส่งลูกไปให้ “คุณเอคิดกับเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง”

เพื่อน ร่วมการประชุมหรือตัวประธานเองก็ควรคอยดูพฤติกรรมตัวเองด้วยว่าแสดงออกมากไป หรือเปล่า แม้ว่าไอเดียเราจะดี แต่ถ้ามีแต่เรานำเสนอ การได้ส่วนร่วมจากที่ประชุมก็จะน้อยลง ซึ่งมีผลตอนไปปฏิบัติงาน เราอาจจะไม่ค่อยมีคนให้ความร่วมมือก็ได้ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องที่ต่อว่ากันว่าแต่ละคนมีอัตตา เอาแต่เรื่องที่ตนชอบตนเสนอ พอคนอื่นเสนอบ้างไม่ใช่ไอเดียของตนหรือพวกของตนก็ไม่เอาไปทำ จะให้ไปลดอัตตากันฉับพลันนั้นเป็นเรื่องยาก เราควบคุมพฤติกรรมเราเองที่ทำให้มีผลกระทบทางบวกต่อคนรอบข้างและผลงานดีกว่า   ที่นี้คนที่ไม่กล้านำเสนอให้ที่ประชุมเองนั้น พัฒนาตัวเองให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยก็จะเป็นการช่วย ทั้งองค์กรและส่วนตัว เราอาจจะหาจังหวะว่างที่คนหยุดพูด หรือที่ผู้เขียนบอกผู้เข้าร่วมอบรมว่า “ยังไงเขาต้องหยุดหายใจบ้างล่ะค่ะ แทรกช่องนั้นเลย” หรือบางกรณีก็ยกมือเพื่อจองคิวจะเสนอไอเดียต่อ ซึ่งถือเป็นมารยาทในการประชุมสากล ประธานในที่ประชุมก็จะเชิญให้พูดเมื่อถึงคิวบางคนไม่กล้าเสนอเพราะเสนอทีไรเป็นเรื่องทุกที ส่วนนี้คงต้องฝึกพูดให้คนอื่นเดือดร้อนนะคะ ที่เคยนำเสนอแล้วที่เรียกว่า I’m OK. You’re OK. คอนเซ็ปท์ ง่ายพูดแล้วคนอื่นรู้สึกดีและเราก็รู้สึกดี ภาษาพระเรียกสัมมาวาจา แต่การปฏิบัตินี่ใช้เวลานานทีเดียว ต้องฝึกฝนกันแล้วฝึกฝนกันอีกไปเรื่อยๆ ค่อยๆพัฒนาไป ดีกว่าไม่เริ่มทำ หรือไม่ใส่ใจว่าสิ่งที่เราพูดไปจะไปทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่ บางคนชอบเสนอว่า “ที่คุณจอยพูดมา ผมว่าไม่ได้เรื่อง เราควร..” แบบนี้นิ่งเสียตำลึงทองค่ะ อยู่ๆลุกขึ้นมาว่าคนอื่น ถ้าอยากนำเสนอก็เสนอเนื้อหาเลย ด้วยท่าทีเป็นมิตรไม่วางตัวเหนือผู้อื่น “ไม่ทราบว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานนี้หรือไม่ ถ้าเรา...”พฤติกรรมที่เป็นผลลบต่อการทำงานโดยส่วนรวมคือ “การคว่ำกระดาน” ซึ่งกล่าวในเบื้องต้นว่า บางคนไม่ยอมนำเสนอไอเดียที่แตกต่างตั้งแต่ในที่ประชุม แต่แอบคุยกันทีหลัง กลายเป็นนินทาไปบ้าง กลายเป็นไปยุแยงให้คนเปลี่ยนแนวคิดบ้าง สุดท้ายก็ล้มมติที่ประชุมที่คุยกันไปแล้ว พฤติกรรมนี้นอกจากไม่ช่วยทำงานในที่ประชุมแล้ว ยังก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น คนทำงานก็ทำต่อไม่ได้เพราะต้องมาเริ่มคุยกันใหม่ แทนที่จะประชุมเสนอความเห็นกันให้เสร็จตั้งแต่ครั้งแรก เหมือนคนไม่ช่วยพายเรือ แต่ปล่อยเท้าให้ราน้ำไป ทำให้เรือยิ่งพายยากขึ้นช้าขึ้น คนทำงานก็เสียความรู้สึกซึ่งกันและกัน พลอยทำให้เกิดความไม่วางใจกันมากขึ้น เพราะไม่ยอมคุยกันต่อหน้า
ซึ่ง เราเองผู้ไม่กล้าเสนอในที่ประชุมอาจไม่ได้คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น แค่เราไม่กล้านำเสนอ เลยถามคนข้างๆว่าไอเดียนี้ใช้ได้หรือเปล่า พอประชุมเสร็จก็มาคุยกับคนอื่นเพิ่มเฉยๆ ก็ลองพิจารณาดูนะคะว่าบางทีพฤติกรรมของเราอาจกลายเป็นเหตุให้คนอื่นเดือด ร้อนได้ ลองพยายามนำเสนอในที่ประชุมให้มากขึ้นเมื่อมีไอเดีย อย่าง น้อยก็แสดงความจริงใจของเราที่จะช่วยให้งานส่วนรวมในที่ประชุมสำเร็จ ไม่ทำให้ใครมาว่าเราได้ว่าไม่ช่วยออกความคิดเห็นแต่มาทำลายงานของส่วนรวมได้อีก เทคนิคหนึ่งของการประชุมคือการคุยแบบวงกลม หรือที่บางคนเรียกไดอะล็อก ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มก่อนว่าอยากใช้วิธีนี้ประชุมร่วมกัน ประชุมแบบนี้ไม่ต้องมีประธานก็ได้ ใครพร้อมก็พูด พูดทีละคน คนที่เหลือนั่งฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างตั้งใจ พูดจนหมดแล้วคนอื่นจึงจะเริ่มพูดได้ บางที่ก็ให้ถืออุปกรณ์สักชิ้นเป็นการบอกว่าเป็นคนพูด เช่น ปากกา ก้อนหิน ฯลฯ เรียกว่าเป็น Talking Stick ซึ่งคนที่ไม่ได้ถืออุปกรณ์นี้ต้องเงียบและฟังตามกติกา  ถ้า วงไหนทะเลาะกันเก่งนัก กฎข้อหนึ่งที่ช่วยดีคือ คนพูดต้องเว้นไปอีกสองคนก่อนจึงจะมีสิทธิพูดอีกครั้งได้ เช่น นายเอพูดแล้ว ต้องให้คนอื่น เช่น นายบีและนายซีพูดก่อน นายเอจึงจะมีสิทธิพูดอีกที แบบนี้คนที่จะพูดขัดกันก็จะมีเวลาใคร่ครวญ ไม่ตอบโต้ออกไปทันที เพราะยังไม่ถึงคิว ต้องรออีกสองคนก่อน กฎอีกข้อคือห้อยแขวนการตัดสิน หรือไม่ไปคอยคิดประเมินคนนั้นถูกผิดใช่ไม่ใช่ คนฟังแต่ละคนควรฝึกดูแลจิตใจตัวเองเพื่อจะได้เรียนรู้รับข้อมูลกันได้ลึก ซึ้งขึ้น เข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น 
ข้อเสียที่บางคนบ่นคือกระบวนการนี้ใช้เวลามากทีเดียว เพราะบางคนก็พูดน้ำไหลไฟดับแต่เราขัดจังหวะไม่ได้ เพราะกฎคือให้ฟังจนหมด หรือบางคนก็พูดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้แทนที่จะเข้าเนื้อหาการประชุม ฯลฯ การใช้วงคุยแบบนี้จึงควรเลือกให้เหมาะกับเรื่องที่เราใช้ สถานการณ์ที่เหมาะสม ว่าเราจะต้องการเนื้องานออกมาเป็นหลักหรือว่าจะเน้นหนักความรู้สึกการมีส่วน ร่วมเป็นหลักอย่างไร ก็ตามถ้าคนในวงประชุมสามารถใช้แบบผสมผสาน คืออย่างน้อยในที่ประชุมรู้จักฟังซึ่งกันและกันมากขึ้น หยุดให้คนอื่นพูด ฟังคนอื่นอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสิน รู้จักนำเสนอไอเดียที่ควรนำเสนอ เงียบเมื่อควรเงียบ ไม่จำเป็นต้องแสดงตนเป็นผู้นำผู้มีอิทธิพลตลอดเวลา โดยเฉพาะประธานนำประชุมที่เข้าใจก็จะสามารถช่วยดูแลคนทั้งหมดได้ แบบนี้เราก็จะได้ทั้งงานทั้งคน ไม่ต้องมีอาการ มือไม่พายเอาเท้าราน้ำอีกค่ะ

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ดร. มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ จบการศึกษาทางการจัดการองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศและการบริหารเชิงกลยุทธ์ มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารคน การจัดการองค์กรและการบริหารการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของสถาบันการบริหารและจิตวิทยา ซึ่งเปิดอบรมสัมมนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร เช่น หลักสูตร The Boss หลักสูตรการบริหารสำหรับเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูง และหลักสูตรอื่นๆที่ครอบคลุมการบริหารจัดการกว่า ๑๐๐ หลักสูตร อาจารย์เป็นวิทยากรและที่ปรึกษาให้กับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และภาคสังคม เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซีพีเซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ เป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ดอกเบี้ยธุรกิจ และเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนงานในภาคสังคม เช่น จิตอาสา จิตตปัญญาศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น