อาหารฤทธิ์ร้อน-เย็นนี้ คือหนึ่งในวิถีธรรมชาติบำบัด ที่เชื่อว่าอาหารแต่ละอย่างส่งผลให้ร่างกายร้อนหรือเย็น สุขภาพที่แข็งแรงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะได้สมดุล ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ภาวะที่ร้อนหรือเย็นมากเกินไปนั่นเองที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ อาการของภาวะที่ร้อน-เย็นเกินไป
ร้อนเกินไป : หน้าแดง มีสิวขึ้น มีแผลในช่องปากด้านล่าง ตัวร้อน มือเท้าร้อน มีเส้นเลือดขอดตามจุดต่างๆ ท้องผูกเป็นประจำ ท้องอืด เจ็บปลายลิ้น เจ็บส้นเท้า
เย็นเกินไป : ตาแฉะ ขี้ตาเยอะ เป็นแผลในช่องปากด้านบนหรือโคนลิ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น มีน้ำมูกใส นิ้วล็อคกำมือไม่ลง อุจจาระเหลวสีอ่อน เจ็บโคนลิ้น ร้อน-เย็น ดูกันยังไงนะ สังเกตว่าอาหารที่กินเข้าไปทำปฏิกิริยาให้ร่างกายร้อนขึ้นหรือเย็นลงแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีลักษณะของอาหารที่ให้ฤทธิ์ร้อน-เย็น มาให้อ่านเพื่อใช้ประกอบการสังเกตกันด้วย
อาหารฤทธิ์เย็น : มักจะมีลักษณะหวานหรือจืด สีจะออกไปทางสีอ่อน เช่น ขาว เขียว ความหนาแน่นของเนื้อสารจะน้อย ยุ่ยๆ หลวมๆ
อาหารฤทธิ์ร้อน : มักจะมีลักษณะเค็ม ขม เนื้อแข็ง สีสันจะออกไปทางสีเข้มหรือคล้ำ เช่น แดง ม่วง ดำ ถ้าเป็นเขียวก็ออกเขียวเข้ม มีกลิ่นออกเหม็นเขียว
แต่ในปัจจุบันนี้อาหารส่วนใหญ่ที่เรากินกันมักจะมีฤทธิ์ร้อน เช่น อาหารที่เค็มจัด มันจัด หวานจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารใส่สารเคมี อาหารใส่ผงชูรส เหล้า เบียร์ ไวน์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ซอง รวมไปถึงน้ำร้อนจัด น้ำเย็นจัด และน้ำแข็ง
จริงๆ อาหารก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบร้อน-เย็น เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการที่ร่างกายจะมีภาวะร้อนหรือเย็นอีกมาก เช่น ความเครียด อดนอน กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ เดินทางบ่อย หงุดหงิดโมโห และสูบบุหรี่
ดังนั้นหากคุณพบว่าตัวเองมีอาการที่แสดงว่าร่างกายคุณมีภาวะร้อนหรือเย็นจนผิดปกติ นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนอาหารแล้ว คงจะต้องเปลี่ยนรายละเอียดในชีวิตประจำวันกันบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่ได้สมดุล อันจะนำภาวะปลอดโรคและมีสุขภาพที่แข็งแรงมาสู่ชีวิตของคุณ
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ "ถอดรหัสสุขภาพ เล่ม 1 ร้อน-เย็นไม่สมดุล" โดย ใจเพชร มีทรัพย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น