คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ครอบครัวใดมีลูกเล็ก หรือลูกวัยกำลังซน ย่อมต้องหนักใจ และเป็นห่วงลูกเป็นธรรมดา เพราะอาจซุกซน และเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่คาดคิดก็เป็นได้
ไม่ว่าจะเป็นก้างติดคอ กลืนเหรียญ น้ำร้อนลวก หรือแม้กระทั่งการได้รับสารพิษ และถูกแมลงมีพิษกัดต่อย เป็นต้น ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือลูกเบื้องต้นก่อนนำส่งแพทย์ จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความรู้ และความเข้าถึงลักษณะการช่วยที่ถูกต้องด้วย
เพื่อให้เด็กรอดพ้นจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย ทางโรงพยาบาลบีเอ็นเอช และทีมงาน Life and Family ได้รวบรวมวิธีการช่วยเหลือเด็กจากสถานการณ์ยอดฮิตที่ทำให้เด็กเสี่ยงตาย เพื่อนำมาเป็นข้อมูล และตัวช่วยเบื้องต้นให้กับทุกบ้าน และทุกครอบครัวได้นำไปใช้กัน ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่บางบ้านเคยนำไปใช้กับลูกแล้ว โดยเริ่มจากสถานการณ์แรก
*** เมื่อลูกมีก้างปลาติดคอ
ขณะที่เด็กกินอาหาร แน่นอนว่าอาจเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีก้างยาวอย่างปลา อาจติดคอเด็กได้ ดังนั้นถ้าก้างติดคอ ควรปั้นข้าวเป็นก้อน (ไม่ต้องใหญ่มาก) แล้วให้ลูกกลืนข้าวก้อนนั้นโดยไม่ต้องเคี้ยว หรืออาจเปลี่ยนจากข้าวเป็นกล้วยสุก หรือขนมปังนิ่มๆ ก็ได้
อย่างไรก็ดี หากกลืนข้าวปั้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำให้เจือจางแล้วให้ลูกค่อยๆ ดื่ม เพราะน้ำส้มสายชูจะช่วยให้ก้างปลาอ่อนตัวลง และหลุดออกได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าก้างปลายังไม่หลุดจนลูกเจ็บ และปวด ให้รีบพาลูกส่งแพทย์ทันที
*** เมื่อลูกกลืนเหรียญ หรือสิ่งของเล็กๆ
เหรียญ หรือสิ่งของชิ้นเล็ก ถือเป็นของเล่นชิ้นเอกของเด็กเลยทีเดียว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อยู่ในวัยกำลังกิน กำลังอม ที่อาจนำพาซึ่งสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ดังนั้นเมื่อลูกกลืนสิ่งของเล็กๆ เข้าไป สิ่งแรกที่พ่อแม่ทำได้คือ จับลูกในลักษณะห้อยศีรษะลงต่ำ แล้วตบหลังแรงๆ เพื่อให้เด็กไอออกมา แต่ถ้าสิ่งที่ติดหลอดลมอยู่ยังไม่ออกมาพร้อมกับอาการไอของลูก ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
*** เมื่อลูกยัดของเข้าจมูก
เด็กเล็กจะเจอปัญหานี้บ่อย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาสิ่งของเข้าจมูก ให้บีบรูจมูกข้างที่ไม่มีของติดอยู่ แล้วบอกให้ลูกสั่งน้ำมูกแรงๆ เพื่อให้ลมจากจมูกดันของที่ติดอยู่ออกมา ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีการแคะ หรือยัดจมูก เพราะจะยิ่งไปดันของที่ติดอยู่ในจมูก ให้อยู่ลึกเข้าไปอีก หรือถ้าลูกสั่งของที่ติดอยู่ไม่ออก ต้องพาไปพบแพทย์เพื่อทำการดึงเอาสิ่งของเหล่านั้นออกทันที มิเช่นนั้น เด็กจะหายใจลำบาก และขาดอากาศหายใจก็เป็นได้
*** เมื่อของจิ๋วๆ เข้าหูลูก
หู ใครคงไม่คิดว่า อาจจะเกิดเรื่องไม่คาดคิดได้ แต่อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ดังนั้นถ้าของชื้นจิ๋วเข้าหูลูก อย่างแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ จับให้ตัวลูกเอียงศีรษะด้านที่มีของลง เพื่อให้ของหล่นออกมาเอง ถ้าหากทำแล้วของที่เข้าไปยังไม่ออกมา ห้ามคุณแม่แคะหูลูกเองเด็ดขาด เพราะของนั้นจะยิ่งเข้าไปลึกยิ่งขึ้น แต่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
*** เมื่อลูกถูกไฟดูด
จากงานวิจับพบว่า กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการโดนไฟดูดมากที่สุด คือ เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี นั่นเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว และยังไม่รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการช่วยเหลือลูกเมื่อถูกไฟดูด พ่อแม่ห้ามใช้มือเปล่าดึงลูกขณะที่ถูกไฟดูด เพราะกระแสไฟจะวิ่งเข้าสู่ตัวทันที แต่ควรให้ใช้ผ้าแห้งหนาๆ ห่อมือ หรือพับหนังสือพิมพ์หนาๆ แล้วผลักลูกที่โดนไฟดูดออก ซึ่งผู้ที่จะช่วยต้องตัวแห้งด้วย จากนั้นบอกให้คนรอบข้างยกคัตเอาท์ลง หรือดึงปลั๊กออก โดยใช้ไม้หรือสายยางแห้งๆ เขี่ยให้ออกจากตัวคนถูกดูด
เมื่อกระแสไฟถูกตัดลงแล้ว ให้วิ่งเข้ามาดูลูก และรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นทันที เช่น ตรวจดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ ถ้าหยุดให้รีบนวดหัวใจพร้อมๆ กับการผายปอด และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที แต่ถ้าไฟดูดไม่มาก ตรวจตามร่างกายว่ามีบาดแผลใดๆ หรือไม่ ลูกยังมีสติ และพูดโต้ตอบได้หรือไม่ ถ้าทุกอย่างปกติให้นำตัวลูกไปนอนพัก และเฝ้าอาการอย่างใกล้ชิด
*** เมื่อสารพิษเข้าตาลูก
การวางขวดสารพิษไว้ในที่ที่เด็กเอื้อมถึง อาจนำมาซึ่งภัยต่อตัวเด็กได้ เช่น สารเคมีกระเด็นเข้าตา เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ให้พ่อแม่รีบล้างตาลูกด้วยน้ำสะอาดทันที โดยตะแคงศีรษะ และใช้น้ำสะอาดจากก๊อก หรือน้ำยาล้างตารินผ่านทางหัวตาช้าๆ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว กรณีที่สิ่งแปลกปลอมติดอยู่ รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อให้แพทย์ช่วยจัดการ ซึ่งคุณแม่ไม่ควรนำสิ่งแปลกปลอมนั้นออกด้วยตัวเอง เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อตาลูกน้อยได้
*** เมื่อลูกจมน้ำขณะอาบน้ำในอ่าง
สถานการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าเด็กโตจะไม่พบ ซึ่งหากลูกหกคะมำในท่าคว่ำหน้าลงในอ่างน้ำ คุณแม่ต้องอุ้มลูกน้อยขึ้นในท่าศีรษะต่ำ เพื่อช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหรือเสมหะออกมา ป้องกันการสำลักน้ำเข้าปอด กรณีเด็กที่ไม่รู้สึกตัว ให้คุณแม่ทำการผายปอดแต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที
*** เมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวก
น้ำร้อนถือเป็นภัยที่สร้างความเจ็บปวด และแสบผิวหนังจนพุพอง ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อลูกถูกน้ำร้อนลวกคือ พ่อแม่ควรถอดเสื้อของลูกออกทันที ห้ามเจาะแผลพุพองหรือตัดเศษผิวหนังออก เพราะการกระทำดังกล่าวอาจะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ และห้ามใส่น้ำมัน ยาสีฟัน หรือยาใดๆ บนบาดแผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แต่ควรประคบบริเวณแผลด้วยน้ำเย็น รวมทั้งคุณแม่ควรปิดแผลด้วยผ้าก็อช หรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาด (อย่าใช้สำลีเป็นอันขาด) จากนั้นจึงนำไปพบแพทย์ทันที
*** เมื่ออาหารเป็นพิษ
ถ้าลูกมีอาการอาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย ควรให้ลูกจิบน้ำทีละน้อย พร้อมกับหยุดรับประทานอาหาร และนมชั่วคราวจนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการของโรคอีกที
*** เมื่อแมลงมีพิษกัดต่อย
ถ้าลูกถูกผึ้งต่อย ไม่ควรพยายามเอาเหล็กไนออกด้วยตัวเอง เนื่องจากเหล็กไนของผึ้งมีพิษ อย่าให้นิ้วแตะถูกบริเวณบาดแผล แต่ให้ประคบด้วยถุงน้ำแข็ง หรือน้ำเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้พิษจากเหล็กในซึมเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นแมลงชนิดอื่น เช่น มด หรือตะขาบให้ประคบแผลด้วยถุงน้ำแข็งหรือน้ำเย็น ถ้าปวดมากให้รีบรับประทานยาแก้ปวด หลังจากนั้นให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะแผลที่ถูกกัด หรือต่อย อาจเกิดอาการอักเสบได้
*** เมื่อลูกน้อยได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
เช่นกันกับการการวางขวดสารพิษไว้ในที่ที่เด็กหยิบง่าย ซึ่งเด็กอาจหยิบขึ้นมากินด้วยความไม่รู้ว่านี่ไม่ใช่น้ำดื่ม แต่เป็นสารพิษดีๆ นี่เอง ดังนั้นเมื่อลูกกินเข้าไป สิ่งแรกต้องทำให้ลูกอาเจียน เมื่อลูกอาเจียนเอาสารพิษออกจากกระเพาะได้แล้ว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์รักษา อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กรับประทานสารกัดกร่อน หรือน้ำมันหอมระเหยเข้าไป ห้ามทำให้เด็กอาเจียนโดยเด็ดขาด ดังนั้นควรหาชนิดของสารพิษที่ลูกรับประทานเข้าไปก่อน เก็บตัวอย่างให้แพทย์ตรวจ และควรสังเกตด้วยว่ารับประทานเข้าไปเท่าไร
*** เมื่อเลือดกำเดาไหล
ควรบีบจมูกลูกทางด้านหน้าเข้าหากัน ให้คนไข้หน้าตรง หรือก้มหน้าเล็กน้อย ไม่ต้องแหงนหน้า ระหว่างนั้นให้คนไข้หายใจทางปาก โดยทั่วไปเลือดกำเดาจะหยุดไหลภายใน 5 นาที หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว อย่าแคะจมูก หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ ถ้าไม่ได้ผลให้พาคนไข้ไปพบแพทย์สาขา หู คอ จมูก
*** เมื่อถูกสุนัขกัด
ถ้าสุนัขที่กัดนั้นได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้ว ให้ล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาด เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเช็ดในทิศทางที่ออกจากแผล จากนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรนำลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจว่า สุนัขที่กัด ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้วหรือยัง? อาจทำให้ลูกเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ ทางที่ดีคุณแม่ควรล้างแผลด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ดี ไม่ควรฆ่าสุนัขที่กัด แต่ควรขังไว้เพื่อดูอาการ 10 วันว่าเป็นบ้าหรือไม่ หรือนำสุนัขไปให้สัตวแพทย์เพื่อตรวจอาการต่อไป แต่ถ้าสุนัขตายระหว่างดูอาการ ให้นำซากสุนัขไปส่งสถานเสาวภา หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อตรวจพิสูจน์ หรือหากต้องเดินทางหลายวัน ให้แช่หัวสุนัขไว้ในน้ำแข็งเพื่อกันไม่ให้สมองสุนัขเน่า และถ้าสุนัขที่กัดเป็นบ้า หรือไม่สามารถติดตามสุนัขได้ ให้พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
*** เมื่อลูกกระดูกหัก
แน่นอนว่า วัยเด็กถือเป็นวัยกำลังซนมาก การเล่นจึงมีความเสี่ยงที่จะหกล้มได้สูง โดยเฉพาะล้อแล้วกระดูกหัก ดังนั้นเมื่อกระดูกหัก วิธีแรกให้ลูกนอนอยู่กับที่ ห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่จำเป็น ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือดโดยด่วนหรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้เข้าเฝือกชั่วคราวไว้ก่อน ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งถ้ามีบาดแผลให้ปิดแผลด้วยผ้าสะอาดก่อนเข้าเผือก จากนั้นจึงนำตัวส่งโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นอาการกระดูกหักที่ส่วนคอ หรือกระดูกสันหลัง ต้องพยายามเคลื่อนย้ายอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะหากเคลื่อนไหวผิดท่าอาจทำให้เด็กพิการได้
*** เมื่อลูกเคล็ดขัดยอก
เคล็ดขัดยอกอาจเกิดจากการสะดุดล้ม หรือโดนของแข็ง ลำดับแรกควรจัดท่านั่ง หรือนอนพักในท่าสบายๆ ให้กับลูก จากนั้นให้ยกส่วนที่เคล็ดให้สูงขึ้น รองด้วยหมอน หรือผ้าห่มหนาๆ แล้วนวดด้วยน้ำมันปาล์ม พันด้วยผ้าพันแผล แต่อย่าพันให้แน่นมาก เพราะจะทำให้ส่วนที่ขัดยอกระบมได้
*** เมื่อลูกโดนของมีคมบาด
การถูกมีดบาด ถือเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะโดนบาดกัน ซึ่งเชื่อว่า ลูกๆ ของท่านผู้อ่านคงต้องโดนบาดกันมาบ้างแล้ว อย่างไรเสียเมื่อถูกบาดแล้ว ให้รีบทำความสะอาดบริเวณรอบๆ บาดแผลโดยใช้สำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เจือจางด้วยน้ำ และเช็ดในทิศทางที่ออกจากแผล จากนั้นปล่อยให้แห้ง ทาครีมที่มียาฆ่าเชื้อโรค หรือปล่อยให้แผลเปิดแห้ง หรือถ้าถูกตะปูตำอวัยวะของร่างกาย ควรทำความสะอาดแผลเบื้องต้น คงจะเป็นวิธีการช่วยเหลือเด็กเบื้องต้นที่จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่น้อย ทางที่ดีการจัดเก็บ และมีความละเอียด รอบคอบในการจัดบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะกันไว้ดีกว่าแก้ อย่างไรก็ดี บ้านไหนเคยเจอสถานการณ์เสี่ยงแบบนี้ หรือแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ และสามารถช่วยเหลือลูกให้รอดพ้นจากสถานการณ์เสี่ยงตายเหล่านั้นได้ นำมาแบ่งปัน และแชร์ประสบการณ์กันได้นะครับ ทั้งนี้เพื่อจะเป็นประโยชน์กับครอบครัวอื่นๆ ในการช่วยเหลือบุตรหลานต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น