วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 29, 2552

ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน


มีอะไรในโคนัน: ผ่ามุมมองในแง่จิตวิเคราะห์
โคนันไม่ได้ชื่อโคนัน แล้วก็ไม่ใช่นักเรียนประถม เขาเคยชื่อ คุโด้ ชินอิจิ นักเรียนม.5 ผู้ช่วยเหลือกรมตำรวจคลี่คลายคดีฆาตกรรมได้หลายครั้ง นอกจากความฉลาดปราดเปรื่องแล้ว เขายังเตะฟุตบอลได้เก่งกาจ สามารถใช้ฝีเท้าเตะวัตถุสิ่งของสู้กับเหล่าร้ายอีกต่างหาก

หนังสือเปิดตัวคุโด้ ชินอิจิ ด้วยการคลี่คลายคดีพิศวาสฆาตกรรมกลางเวหาบนรถไฟเหาะในสวนสนุก แค่เรื่องแรกก็น่าชื่นชมผู้เขียนแล้วล่ะครับ ชินอิจิมีแฟนนักเรียนมัธยมด้วยกันชื่อ โมริ รัน เป็นแชมป์คาราเต วันหนึ่งชินอิจิถูกเหล่าร้ายลึกลับกรอกยาพิษสูตรใหม่แต่ก็ไม่ตายเมื่อตื่นขึ้นมาเขาตัวเล็กเท่านักเรียนประถมทั้งที่ความจำและจิตใจยังเป็นชินอิจิคนเดิม
เขาบอกรันไม่ได้เพราะเกรงว่ารันจะได้รับอันตรายจากเหล่าร้ายไปด้วยเขาจึงต้องอำลารันไปโดยไม่มีกำหนดกลับ แล้วเขาก็ตั้งชื่อใหม่ให้ตนเองว่าโคนัน ตามชื่อของ "เซอร์อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์"
โคนันจึงต้องไปเข้าชั้นเรียนประถม อาศัยอยู่บ้านคุณพ่อของรันกับรันในฐานะเด็กที่มีคนฝากมาเลี้ยง ด้วยความช่วยเหลือของนักวิทยาศาสตร์ข้างบ้าน โคนันจึงมีเครื่องแปลงเสียงไว้เปลี่ยนเสียงตนเองเป็นเสียงของชินอิจิเอาไว้ใช้เวลาที่จะโทรศัพท์มาปลอบโยนรันให้อดทนรอเขากลับมา หรือเปลี่ยนเสียงเป็นเสียงของคุณพ่อของรันเอาไว้ใช้เวลาเฉลยคดีฆาตกรรม ด้วยคุณพ่อของรันซึ่งเป็นนักสืบเอกชนสืบเรื่องอะไรก็ไม่ได้เรื่อง โคนันจึงต้องคอยลอบช่วยเหลืออยู่ตลอด นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังประดิษฐ์รองเท้าพลังสูงให้โคนันด้วยเวลาเตะของใส่ผู้ร้ายจะได้แรงเท่าชินอิจินักเรียนมัธยมปลายเหมือนเดิม... นั่น รอบคอบมั้ยครับ”
ถ้าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องจริงล่ะครับ หมายความว่าอะไรทั้งหมดที่เล่ามาเป็นสิ่งที่โคนันว่าเองเออเองอยู่คนเดียว ถ้าเรื่องราวในหนังสือ 41 เล่มและวีซีดีเป็นร้อยสองร้อยตอนถูกเล่าตามมุมมองและความเห็นของโคนันแต่ผู้เดียว ดังนี้แล้วจะหมายความว่าอะไร ขอให้สังเกตว่าหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นดีๆ นั้นขายดีได้สิบปีโดยไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนแรงเลย ปัจจัยหนึ่งคือลายเส้นของ โกโช อาโอยามา นั้นดีเลิศ ปัจจัยที่สองคือเนื้อเรื่องสนุกสนานอ่านง่ายแต่ประเทืองปัญญา ปัจจัยที่สามคือหน้าที่ของหนังสือในการรับใช้ความต้องการทางจิตวิทยาของผู้อ่าน
โคนันเล่าเรื่องราวทั้งหมดจากสายตาและความคิดของเขา ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการทางจิตวิทยาของนักอ่านจำนวนมาก กล่าวคือโคนันหลงผิดไปแต่ผู้เดียวและนักอ่านจำนวนมากก็พร้อมที่จะรับสภาพความหลงผิดนั้น คล้ายๆ กัลลิเวอร์ที่หลงผิดที่คิดว่าตนเองไปพบเมืองคนเล็กที่ชื่อ ลิลลิพุต ในหนังสือ กัลลิเวอร์ผจญภัย ของ โจนาธาน สวิฟต์ ในกรณีเช่นนี้ กัลลิเวอร์ โคนัน และ นักอ่านกำลังสบายใจกับประสบการณ์ที่เรียกว่า Lilliputian experience เฉพาะกรณีโคนันดูเหมือนว่าเขาจะหลงอยู่กับประสบการณ์เช่นนี้มาสิบปีเข้านี่แล้ว อาการท่าจะหนักจนเรียกได้ว่าเป็น Lilliputian delusion
โคนันคิดเอาเองว่าตัวเองเล็กลง เขาหลงผิดและหลงเชื่อว่ามีพวกคนชุดดำกรอกยาพิษให้แก่เขาเป็นเหตุให้เขาตัวเล็กลง บางทีเขาอาจจะถูกกรอกยาอะไรบางอย่างจริงๆ ก็เป็นได้ แต่หลังจากฟื้นมาแล้วเขาก็สวมรอยและแต่งเรื่องที่ตัวเองมีขนาดเล็กลง การที่เขาตัวเล็กลงทำให้เขารอดพ้นจากความรับผิดชอบบางอย่างไป เช่น ไม่ต้องพยายามจีบเพื่อนสาวที่ชื่อรันในบริบทของวัยรุ่น ไม่ต้องรับผิดชอบการเรียนในชั้นม.ปลายเพราะเครียดกับการรอเอ็นทรานซ์ ไม่ต้องถูกคาดหวังจากว่าที่พ่อตาคือโคโกโร่นิทรา เป็นต้น
ในขณะเดียวกันเขาก็ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการที่เขาตัวเล็กลงกล่าวคือ ได้ใกล้ชิดรันมากขึ้นในฐานะน้องชายของพี่สาว ไม่ต้องถูกกดดันจากใครหรืออะไรเลยไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกเขม่นจากว่าที่พ่อตาเมื่อสามารถคลี่คลายคดีต่างๆ ได้ เป็นต้น
ยังอาจจะมีผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ อีกที่โคนันตัวเล็กได้ เช่น ได้ทำข้อสอบง่ายๆ เวลาเรียนชั้นประถม ทำให้ด็อกเตอร์อากาสะเอ็นดูสร้างสิ่งประดิษฐ์พิเศษให้ ได้รับความอบอุ่นจากพี่สาวเช่นรัน แม้กระทั่งได้เห็นรันโป๊โดยสุจริตใจ(แต่เลืดกำเดาไหล) ลองนึกดูเถอะครับว่าโคนันหนีอะไรและได้อะไรกับการที่เขาตัวเล็กลง
เล่ม 40 โคนันได้มีโอกาสสืบสวนสอบสวนอดีตอันหวานชื่นของด็อกเตอร์อากาสะร่วมกับเพื่อนๆ เด็กประถม คล้ายๆ จะสบายใจไร้ความเครียด พอถึงเล่ม 41 โคนันพบกับฆาตกรรมซ่อนเงื่อนและการกลับมาของบุรุษชุดดำอีกครั้ง ความเครียดที่เกิดจากบุรุษชุดดำจะกดดันให้โคนันตัวเล็กไม่ยอมโตอยู่เช่นนั้น
สำหรับการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่อยู่ยืนยงมาได้สิบกว่าปี ทารกที่เพิ่งเกิดตอนที่เล่ม 1 วางแผงตอนนี้ก็สิบขวบกำลังติดการ์ตูน เด็กสิบขวบตอนที่เล่ม 1 วางแผงตอนนี้ก็ยี่สิบ กำลังเรียนมหาวิทยาลัย หรือกำลังเตะฝุ่นเพราะอ่านการ์ตูนมากเกินไป
คำถามที่ควรถามคือทำไมการ์ตูนเรื่องหนึ่งจึงขายได้นานตั้งสิบกว่าปี

โดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น