วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2552…การฟื้นตัวเริ่มมีสัญญาณอ่อนแรง


ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนตุลาคม 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า แม้การส่งออกและเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวของไทยจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการหดตัวที่น้อยลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) จะพบว่า แรงส่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณอ่อนแรงลง โดยเฉพาะในหมวดการใช้จ่ายในประเทศ ดังนั้น ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ยังคงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
การใช้จ่ายภาคเอกชน…อ่อนแรงลงจากเดือนก่อนหน้า
e การบริโภค “หดตัว” จากเดือนก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนต.ค. พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่ขยายตัวแข็งแกร่งถึงร้อยละ 4.5 ในเดือนก.ย. การบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงลงดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 75.4 ในเดือนต.ค. จากระดับ 75.6 ในเดือนก.ย. โดยถูกกดดันจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ อาทิ ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (และเศรษฐกิจโลก) สถานการณ์การเมืองในประเทศ ความไม่ชัดเจนในกรณีโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทย และค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) จะพบว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยหดตัวเพียงร้อยละ 0.9 ในเดือนต.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.1 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ องค์ประกอบที่สนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยับเข้าใกล้แดนฟื้นตัว ประกอบด้วย ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (ขยายตัวร้อยละ 27.8 ในเดือนต.ค. เทียบกับร้อยละ 20.6 ในเดือนก.ย.) ซึ่งยังคงได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมส่งเสริมการขายและการออกรถยนต์รุ่นใหม่ ปริมาณจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ (ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในเดือนต.ค. เทียบกับร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อนหน้า) และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (หดตัวเพียงร้อยละ 6.6 ในเดือนต.ค. เทียบกับหดตัวร้อยละ 8.1 ในเดือนก่อนหน้า) ที่หดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคหดตัวลงอีกครั้งในเดือนต.ค. หลังจากที่พลิกขยายตัวเป็นครั้งแรกของปีนี้ในเดือนก.ย.
e การลงทุน “ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง” จากเดือนก่อน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.0 ในเดือนต.ค. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกันนั้น เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ขยับขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนต.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ จากระดับ 49.0 ในเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวโน้มการปรับตัวของต้นทุนการผลิต ที่อาจส่งผลกดดันความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) การลงทุนภาคเอกชนหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือนที่ร้อยละ 10.4 ในเดือนต.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 11.1 ในเดือนก.ย. โดยองค์ประกอบหลักที่มีทิศทางดีขึ้น ประกอบด้วย ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ขยายตัวร้อยละ 6.4 เดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ในเดือนก่อนหน้า) และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (หดตัวเพียงร้อยละ 2.6 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 10.6 ในเดือนก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวขององค์ประกอบด้านการนำเข้าสินค้าทุน และมูลค่าการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังคงให้ภาพที่ไม่ชัดเจน และสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าที่ขยับลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนต.ค. จากระดับ 54.6 ในเดือนก่อนหน้า
การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ รายได้เกษตรกรหดตัวในอัตราที่ลดลง
e การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค.ขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.8 ในเดือนก.ย.
และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.4 ในเดือนต.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อส่งออกและเพื่อขายในประเทศ โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ขยายตัวร้อยละ 0.5 (YoY) ในเดือนต.ค. ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในเดือนก.ย. นำโดย แผงวงจรรวม (ขยายตัวร้อยละ 16.9) โทรทัศน์สี (ขยายตัวร้อยละ 22.2) และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง (หดตัวลดลงในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 5 เดือนที่ร้อยละ 4.7)
ส่วนการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวมขยายตัวร้อยละ 1.7 (YoY) ในเดือนต.ค. ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ในเดือนก.ย. นำโดย ปิโตรเคมีขั้นต้น/ปลาย (ขยายตัวร้อยละ 36.2 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ยังคงขยายตัว 6 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ เบียร์ ยาสูบ และรถยนต์นั่ง หดตัวในอัตราที่ชะลอลง
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ไม่ปรับฤดูกาล) ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 66.3 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 65.4 ในเดือนก.ย.
e รายได้เกษตรกรหดตัวในอัตราที่ชะลอลง
รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 0.2 (YoY) ในเดือนต.ค. ดีขึ้นจากที่เคยลดลงร้อยละ 12.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นไปตามทิศทางที่ดีขึ้นของทั้งราคาและปริมาณพืชผล
โดยดัชนีราคาพืชผลปรับลดลงเพียงร้อยละ 3.2 ในเดือนต.ค. เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 12.5 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตพืชผลพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.1 ในเดือนต.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 12.8 ในเดือนก่อนหน้า
ภาคต่างประเทศยังคงบันทึกยอดเกินดุลระดับสูง
e การส่งออกติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การส่งออกในเดือนต.ค. ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.2 ในเดือนก.ย. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) การส่งออกยังคงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยหดตัวเพียงร้อยละ 2.6 ในเดือนต.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 8.3 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวขึ้น (YoY) เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน นำโดย การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในหมวดเกษตรกรรม (โดยเฉพาะยางพารา) และหมวดอุตสาหกรรมทั้งในส่วนที่เน้นใช้แรงงานและเทคโนโลยีสูง
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะ หมวดสินค้าเกษตร (หดตัวเพียงร้อยละ 8.0 ในเดือนต.ค. จากที่หดตัวร้อยละ 24.9 ในเดือนก่อนหน้า) หมวดที่ใช้เทคโนโลยีสูง (หดตัวร้อยละ 3.1 ในเดือนต.ค. จากที่หดตัวร้อยละ 12.9 ในเดือนก่อนหน้า)และหมวดสินค้าใช้แรงงาน (ขยายตัวร้อยละ 4.4 ในเดือนต.ค. ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 ในเดือนก่อนหน้า) ซึ่งยังคงได้รับอานิสงส์จากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ
e การนำเข้าหดตัวมากขึ้น การนำเข้าในเดือนต.ค.หดตัวร้อยละ 6.3 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 27.4 ในเดือนก.ย. โดยเป็นผลมาจากปริมาณนำเข้าที่ยังคงหดตัวสูงเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อนหน้า (YoY) การนำเข้าหดตัวร้อยละ 19.0 ในเดือนต.ค. แย่กว่าที่หดตัวร้อยละ 18.2 ในเดือนก.ย. นำโดย การนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น (หดตัวร้อยละ 19.6 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.2) ในขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุน และการนำเข้าวัตถุดิบยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง (หดตัวร้อยละ 8.3 และหดตัวร้อยละ 18.6 ตามลำดับ)
e ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสวนทางกับการลดลงของมูลค่าการส่งออก ได้ส่งผลทำให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุล 1,688.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. ลดลงจากที่เกินดุลสูงถึง 2,047.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของดุลบริการฯ ในเดือนต.ค. (บันทึกยอดเกินดุล 490.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่ขาดดุล 789.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก่อนหน้า) ตามการเพิ่มขึ้นของรายรับจากการท่องเที่ยว และการชะลอการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจเอกชนที่มิใช่ธนาคาร ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุล 2,178.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นจากที่เกินดุล 1,257.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ แม้มีความเป็นไปได้ว่าแรงหนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย อาจอ่อนแรงลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายด้านทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า ด้วยผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาส 4/2551 อาจทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย พลิกกลับมาเป็นบวกได้ร้อยละ 2.3 (YoY) ในไตรมาส 4/2552 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียกับการหดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ไตรมาสก่อนหน้า
โดยสรุปแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2552 ที่รายงานโดยธปท. ได้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายภายในประเทศทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง และต้องการแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ดังนั้นเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การผลักดันการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และความพยายามพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งสร้างความชัดเจนในโครงการลงทุนบางสาขา) ยังคงเป็นปัจจัยที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนในด้านการส่งออกนั้น แม้จะทยอยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่แนวโน้มของการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ยังคงต้องขึ้นอยู่กับความมั่นคงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ตลอดจนการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ในขณะที่ การดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของธปท. ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อภาคส่งออกของไทย
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น