วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

โอกาสเศรษฐกิจไทยปี 53 'ดีขึ้นอย่างมีข้อจำกัด'


วัชรา จรูญสันติกุล กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2552
เป็นเวลานานมาแล้วที่นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะธนาคารกลางของประเทศมักจะเน้นความสำคัญกับเสถียรภาพของระดับราคาในประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งคือ อัตราเงินเฟ้อ ที่ต้องควบคุมไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการปรับขึ้นหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงผูกอยู่กับเป้าหมายของเงินเฟ้อเป็นกระแสหลัก
แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินของโลกรอบล่าสุด ที่จุดปะทุมาจากวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐ ที่แพร่กระจายจนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก ทำให้ ธปท.ต้องหันมาทบทวนบทบาทของตัวเองโดยมุ่งที่จะรักษา "สมดุล" ของเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของการใช้ทรัพยากรทางการเงินของประเทศอย่างเหมาะสม และสามารถตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ โดยไม่มุ่งเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงๆ หรือควบคุมเงินเฟ้อแบบสุดโต่งเหมือนอย่างที่ผ่านมา
ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.ล่าสุดเมื่อวันที่ ธ.ค.ได้หารือในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกและไทยในปัจจุบัน และประเมินแนวโน้มในปี 2553 โดยเชื่อว่า หากใครขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อน อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจากประเทศต่างๆ เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้จากการผ่านพ้นจุดต่ำสุดทางเศรษฐกิจมาได้ ยังคงอ่อนแอ มีความเปราะบาง โดยที่แนวโน้มการฟื้นตัวกำลังเดินไปอย่างช้าๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขึ้นอยู่ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่จะมีดีกรีส่งผลกระทบเป็นความรุนแรงอย่างไร
โดยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จึงมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างเช่นธนาคารกลางของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ รวมถึงเวียดนาม สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ห่างไกลถึงแม้ว่าจะมีความวิตกกังวลมากขึ้น จากการที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมวดที่เป็นอาหารเนื่องจากภาวะผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาดินฟ้าอากาศ
และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารโลกรายหนึ่ง หากราคาสินค้าเกษตรหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อรายได้ของเกษตรกร แต่เกิดผลลบต่อราคาสินค้าในประเทศที่อาจจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จะไม่ส่งผลต่อภาพรวมของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องใช้การบริหารจัดการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเดือดร้อนของประชาชนในบางกลุ่มที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะจุด
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ได้ เป็น "ขาขึ้น" ได้ แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมานี้ มีอัตราการเติบโตที่ติดลบลดลง และจะเป็นบวกในปี 2553 นั้น เป็นผลมาจากการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยหลัก ยังคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและไม่ชัดเจนโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและในยุโรป ซึ่งมีเพียงเอเชียที่มีจีนเป็นหัวหอกขยายตัวในอัตราเติบโตค่อนข้างสูง ก็ยังไม่อาจจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ทั้งหมด
ในส่วนของไทยที่มาจากภาคเศรษฐกิจภายในนั้น ช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า เงินที่ออกจากการอัดฉีดของรัฐบาลยังไม่เกิดผลต่อเศรษฐกิจมาก มาตรการใช้เงินตาม SP1 ทำได้เฉพาะการเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่เกิดผลในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
เนื่องจากเม็ดเงินที่มาจากโครงการ SP2 จำนวน 1.43 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลหวังใช้อัดฉีดสู่ระบบเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นในปริมาณเพียงน้อยนิดเนื่องจากการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนการบริโภคยังคงอ่อนแอ เช่นเดียวกับการลงทุนแม้จะดีขึ้น กำลังผลิตในประเทศยังคงมีเหลือค่อนข้างมาก จากการที่มีการใช้ในสัดส่วนที่ต่ำเพียง 66%
ทำให้การลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชนจะยังไม่เกิดขึ้นรวดเร็ว จนกว่าจะมีสัญญาณที่ชัดเจน ซึ่งหมายถึงว่า รัฐบาลจะต้องเร่งปรับปรุงศักยภาพในการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเร่งให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่งเร่งการลงทุนของภาครัฐมากขึ้น รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนและแน่นอน
ทั้งนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้รายงานต่อวุฒิสภาว่า การดำเนินการเชิงรุกเพื่อจัดการกับวิกฤติการเงินนั้น มีความสำคัญต่อการขัดขวางภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่านี้ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในความพยายามสกัดภาวะปั่นป่วนทางการเงิน ไม่อย่างนั้นผลที่ออกมาอาจเลวร้ายกว่านี้อย่างเห็นได้ชัด
เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ระดับ 0% และอัดฉีดเม็ดเงิน ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบธนาคาร แต่สหรัฐก็ยังคงประสบกับภาวะถดถอยที่รุนแรง และมีอัตราว่างงานพุ่งขึ้นมาถึง 10.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีครึ่ง แต่จะยังคงประคองเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามปัญหาปัจจัยความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ของดูไบ และการตกต่ำของเงินดอลลาร์ที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ยังคงเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องเฝ้าจับตาดูว่า จะกลายเป็น "หลุมดำ" ที่ก่อให้เกิดวิกฤติการเงินโลก เหมือนอย่างช่วงที่เกิดการล่มสลายของเลแมน บราเดอร์ส เมื่อกลางเดือน ก.ย.2551
โดยที่ ธปท.อาจจะต้องพยายามประคับประคองภาวะเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่อาจจะต่ำกว่าภาวะที่เป็นปกติ โดยหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระดับ 3-4% ต่อปี รวมทั้งยืดระยะเวลาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปให้นานที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นการปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีหน้าตามที่นายธนาคารไทยหลายคนออกมาทำนายไว้ นั่นหมายถึง อาจจะต้องยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจนถึงปลายปี 2553 หรือจนกว่าปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณด้านลบรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ ธปท.ในช่วงที่เป็นโค้งสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุของ ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ยังต้องดำเนินนโยบายการเงินภายใต้แรงกดดันและถูกท้าทาย จากข้อจำกัดทางการเมืองที่ยังคงบั่นทอนต่อประสิทธิภาพการบริหารประเทศของรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลในปีหน้านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น