วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

ลักษณะผู้นำที่จะทำให้ (องค์กร) "ล้ม"


คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยาMichita@ThaiBoss.com  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4073
ยุคเศรษฐกิจบ้านเมืองที่เป็นอย่างทุกวันนี้ สร้างความกดดันให้กับนักบริหารน้อยใหญ่ ซึ่งแต่ละคนมีลักษณะบุคลิกภาพและพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจช่วยให้เขาหรือเธอเหล่านั้นก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดได้ในยามปกติ แต่ในยามคับขันจุดอ่อนของบุคลิกภาพและพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้นอาจแสดงตัวเด่นชัดขึ้นจนทำให้เกิดวิกฤตแก่ทั้งองค์กรได้ ผู้เขียนนึกถึงหนังสือที่มีอยู่ "Why CEOs Fail" โดย David L. Dotlich และ Peter C. Cairo จึงหยิบขึ้นมาย่อเนื้อหาให้ท่านผู้อ่านใช้เป็นตัวชี้วัดลักษณะบุคลิกพฤติกรรมของตัวเราเพื่อการป้องกันและพัฒนาต่อไป
ลักษณะพฤติกรรมที่บ่อนทำลาย 11 ประการที่พบได้ในผู้นำหรือผู้บริหาร ได้แก่ ผู้บริหารที่เย่อหยิ่ง เจ้าบทบาท เจ้าอารมณ์ รอบคอบเกินเหตุ ไม่ไว้ใจใคร ตัดขาดจากโลก ชอบออกนอกกฎ ชอบทำตัวไม่เหมือนใคร ต่อต้านด้วยความเงียบ จอมสมบูรณ์แบบ และนักเอาอกเอาใจ พฤติกรรมเหล่านี้อยู่ในผู้บริหารทั่วไปไม่มากก็น้อย มีรายละเอียดดังนี้
1.ผู้บริหารผู้เย่อหยิ่ง "เราเท่านั้นที่ถูก คนอื่นผิดหมด" การหลงตนเอง มองตนเองเหนือกว่าผู้อื่น ทำลายคนเก่งคนฉลาดมานับไม่ถ้วน ความมั่นใจและการเชื่อในความคิดของตนอาจนำพาให้ผู้บริหารเหล่านี้เติบโตขึ้นมาได้ แต่ความมั่นใจที่มากเกินไปทำให้เขาอาจมองเห็นการต่อต้านเป็นเรื่องไร้สาระ ทำให้เขากล้าต่อว่าผู้คน สั่งสอนผู้อื่นตลอด ดูถูกเหยียดหยามความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับเขา ไม่ได้สนใจที่จะรับรู้ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของผู้อื่น หรือไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าไม่มีใครเสนอความคิดเห็นอะไรแม้ถูกเรียกถาม
ความหยิ่งนี้บั่นทอนศักยภาพในการรับรู้ข้อมูลและการเรียนรู้ ทำให้ผู้บริหารมีพฤติกรรมปัดความรับผิดชอบเพราะไม่เห็นว่าตนทำผิดอะไร ทำให้ผู้บริหารไม่รับแนวทางใหม่ๆ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพราะในใจคิดว่าเขารู้ดีที่สุดแล้วว่าอะไรดี ความหยิ่งนี้ทำให้มองไม่เห็นข้อจำกัดของตัวเอง ทำให้ตัดสินใจในสิ่งที่ตนอาจไม่มีความรู้ความชำนาญจนเกิดปัญหาแก่องค์กรได้
2.ผู้บริหารเจ้าบทบาท "เรามักจะทำตัวเป็นจุดสนใจเสมอ" เป็นคนแสดงออกทางอารมณ์หรือทางการกระทำที่มากกว่าปกติ ทำตัวเด่นในการประชุมด้วยน้ำเสียงท่วงท่าที่ข่มขวัญผู้อื่น เป็นการสกัดไม่ให้ผู้อื่นได้ออกความคิดเห็น ลดทอนบทบาทของผู้อื่นลง เวทีประชุมเหมือนเป็นเวทีแสดงซึ่งอาจดูดึงดูดเร้าใจด้วยการกระตุ้นแรงจูงใจที่น่าเชื่อถือ แต่คนจะเบื่อหน่ายในที่สุดเมื่อไม่ได้ทำตามที่พูดไว้ สัญญาไว้ หรือชอบแสดงมากกว่าลงมือทำจริง
สัญญาณที่ชัดเจน คือ ผู้บริหารเจ้าบทบาทที่จะเข้าสังคมเก่ง พูดจาสร้างความประทับใจได้ดีแต่สิ่งที่พูดออกมาอาจไม่สอดคล้องกัน ผู้บริหารเหล่านี้จะมีลูกน้องที่ไม่กล้าที่จะแสดงออกหรือออกมาแถวหน้า ไม่กล้าพูดเพราะถูกข่มหมด หรือในทางกลับกันอาจมีลูกน้องที่เลียนแบบคือมีความเจ้าบทบาทเช่นกัน แย่งกันพูดและเอาชนะกันด้วยคำพูด งานจึงไม่ค่อยเดิน ผู้บริหารลักษณะนี้อาจเริ่มต้นด้วยความครึกโครมแต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทำอย่างที่คุยไว้ได้จริง ถ้าแก้ก็เพียงแต่ลดการแสดงออกลงบ้าง
3.ผู้บริหารเจ้าอารมณ์ "อารมณ์ของเราเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เอาแน่อะไรไม่ได้" บางวันใจดีให้คำปรึกษา ให้กำลังใจลูกน้องอย่างดี แต่อีกวันอาจจะวิจารณ์ลูกน้องคนเดียวกันว่าไม่มีความสามารถ กลายเป็นคนเอาใจยากที่คนเข้าพบต้องคอยไปถามเลขาฯหน้าห้องว่าวันนี้นายอารมณ์ไหน
ผลกระทบคือลูกน้องไม่ค่อยเข้าหาและหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความผิดพลาดหรือข่าวร้ายใดๆ กว่าผู้บริหารจะรู้เรื่องก็อาจบานปลายเกินแก้ไปแล้ว ผู้คนรู้สึกห่างเหิน เราอาจพบโทรศัพท์ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะซ้อมบทมาตอบเป็นอย่างดี ไม่มีคนเชิญให้ออกความคิดเห็นทั้งที่เราต้องเป็นคนประกาศใช้เรื่องนั้น เป็นต้น
4.ผู้บริหารผู้รอบคอบจนเกินเหตุ "การตัดสินใจที่กำลังจะมาถึงอาจเป็นการตัดสินใจครั้งแรกของเรา" คนที่ปกติต้องวิเคราะห์อย่างมากในการตัดสินใจสำคัญๆ กลัวความผิดพลาดอาจทำให้เป็นผู้บริหารแนวนี้ได้เมื่อพบความกดดัน ให้ลูกน้องไปศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่จบสิ้นเมื่อมีการเสนอโครงการใหม่ๆ ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย ไม่กล้าเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์หรือบริหารใหม่ๆ จนกว่าจะได้อ่านรายงานจำนวนมากมายมหาศาลซึ่งอาจทำให้ช้าเกินไปสำหรับการตัดสินใจ
ผู้บริหารแนวนี้ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องใหม่ๆ ได้ในยามจำเป็น อาจใช้วิธีถอยหนีแทนที่จะก้าวไปข้างหน้า สร้างภาพลวงตาโดยการเลือกทำแต่สิ่งที่เล็กๆ และไม่มีความเสี่ยงมากนัก อาจจัดฉากด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา กำหนดตารางเวลา แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไรพัฒนาไปมากนัก ผู้บริหารนี้อาจไม่แสดงความคิดเห็นเพราะกลัวการถูกปฏิเสธ กลัวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกขัดแย้ง การกำหนดเวลาที่ต้องตัดสินใจ การกล้าเผชิญกับความกลัวของตนและมองในมุมดีของการตัดสินใจนั้นๆ จะช่วยให้ผู้บริหารแนวนี้ตัดสินใจได้มากขึ้น
5.ผู้บริหารผู้ไม่ไว้ใจใคร "เรามองเห็นแต่แง่ลบ" ผู้บริหารบางคนเข้าใจว่าไม่มีใครในบริษัทจะเอาใจใส่กับงานเท่ากับเจ้าของแล้ว จึงคอยหาหลักฐานจับผิดคนว่าเฉื่อยชาหรือไม่ได้ตั้งใจทำงานเพื่อองค์กร ถึงขนาดปรากฏตัวโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในที่ประชุม หรือสอบถามอย่างเอาเป็นเอาตายว่าทำไมลูกน้องจึงดำเนินการอย่างนั้น ผู้บริหารที่ไม่ไว้ใจใครเสียพลังงานและทรัพยากรมากเพื่อการจับผิดตรวจสอบ ซึ่งกลายเป็นการก่อศัตรูขึ้นในใจพนักงาน
การระแวงในแรงจูงใจของผู้อื่นเสมอทำให้ทุกคนตีตัวออกห่าง ลูกน้องอาจคอยแต่ปกป้องตนเอง กลัวที่จะรับผิดชอบอะไรจนกว่าเราจะเห็นชอบด้วย ความไม่ไว้ใจใครขยายออกไปถึงการไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก ซึ่งการไม่ไว้ใจใครนี้อาจเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ผิดหวังอย่างรุนแรงหรือถูกหลอก ถ้าเรารู้ทันตัวเอง ลองนึกถึงความรู้สึกของเราเองเมื่อถูกผู้อื่นไม่ไว้ใจบ้าง ฝึกบังคับให้มองผู้อื่นในด้านบวก จะช่วยให้เราจัดการความไม่ไว้วางใจก่อนที่จะยอมให้มาจัดการกับเรา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น