วันจันทร์, ธันวาคม 07, 2552

โรคไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ ส่งผลเสียอย่างร้ายกาจทีเดียวหากมันทำงานผิดปกติ ซึ่งต่อมไทรอยด์นี้มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมทั้งควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้ทุกระบบปรวนแปร ทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง โดยเฉพาะต่อประสาทการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้

ลักษณะของต่อมไทรอยด์

ลักษณะของต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์มีลักษณะเหมือนผีเสื้ออยู่ที่คอใต้ลูกกระเดือกมีขนาดยาว 4 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ทำหน้าที่สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งฮอร์โมนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก
ปกติต่อมไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่เหมาะสม ฮอร์โมนที่สำคัญคือ tetraiodothyronine (thyroxine หรือ T4) และ triiodothyronine (T3)โดยฮอร์โมนนี้จะมีธาตุไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ถ้าฮอร์โมนหลั่งน้อยร่างกายจะเผาผลาญน้อยลง แต่ถ้าหากฮอร์โมนหลั่งมากร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหารมากทำให้น้ำหนักลด

สาเหตุ

โรคไทรอยด์มากกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน (หรือเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด หรืออิมมูนซิสเต็ม) ซึ่งโรคนี้ผู้ป่วยมีความเจ็บป่วยรุนแรงไม่เท่ากัน การรักษาจึงทำได้ในระดับที่ควบคุมให้ภาวะของโรคนั้นเบาลง หรือทำให้โรคสงบ และทำให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ซึ่งการรักษาในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะให้กินยาต่อเนื่องในระยะยาว ในขณะที่วงการแพทย์ยังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุต่อไป
สาเหตุที่มาจากพันธุกรรมและไวรัส เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมดูแลได้ แต่สำหรับความเครียด และภูมิคุ้มกันนั้น เป็นเรื่องที่เราสามารถดูแลป้องกันตัวเองได้ โดยธรรมชาติ เวลาคนเราเครียด ร่างกายจะมีกลไกที่ทำให้ฮอร์โมนหลั่งออกมาจากส่วนต่างๆ เพื่อช่วยให้มีพละกำลัง มีความสามารถ หรือมีอะไรบางอย่างที่มากกว่าภาวะปกติ มาขับดันตัวเราให้เอาชนะความกดดันนั้นไปได้ และผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการในร่างกายนั้นมีมากมาย โดยเฉพาะในต่อมไร้ท่อ ไม่ว่าจะเป็นต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต หรือต่อมใต้สมอง รวมทั้งในระดับเซลล์ ระดับอวัยวะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายตามมา ที่สำคัญคุณหมอยังเล่าให้ฟังถึงผลการวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าความเครียดมีส่วนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันตนเองที่อาจจะไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ทำให้เกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมา

ประเภทความผิดปกติของไทรอยด์

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มี 3 แบบ คือ

ฮอร์โมนไทรอยด์เกิน

ฮอร์โมนไทรอยด์เกิน คือ ภาวะที่ฮอร์โมนหลั่งออกมามากเกินความจำเป็น (ไฮเปอร์ฯ) สำหรับโรคไทรอยด์ที่เกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์เกิน จะทำให้มีอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น นอนไม่หลับ และน้ำหนักลด ที่สำคัญอารมณ์แปรปรวนบ่อย
Hyperthyroid คอพอกเป็นพิษ หมายถึงภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากว่าปกติเป็นผลทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญมากเกินไป

สาเหตุ

  • โรค Grave's disease เกิดภาวะที่มีภูมิไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามาก ผู้ป่วยจะมีต่อมไทรอยด์โตทั้งต่อม
  • โรค Multinudular toxic goiter หมายถึงภาวะที่ก้อน [nodule] ในต่อมไทรอยด์ทำงานสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น อาจก้อนเดียว หรือหลายก้อน
  • Thyroiditis ช่องแรกของต่อมไทรอยด์อักเสบจะมีอาการของคอพอกเป็นพิษ

อาการ

  • อารมณ์แปรปรวน
  • นอนไม่หลับ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ตาโปน
  • มือสั่น
  • ใจสั่น เหนื่อยง่าย
  • คอพอก
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • ขี้ร้อน
  • น้ำหนักลดแม้ว่าจะรับประทานอาหารได้ดี

การวินิจฉัย

  • เจาะเลือดพบว่า ค่า T3หรือ T4 สูง และค่า TSH ต่ำ
  • ทำไทรอยด์สแกน เพื่อดูว่าสภาพต่อมไทรอยด์โตทั้งต่อม หรือ มีก้อนในต่อมไทรอยด์ หรือเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบ

การรักษา

การรักษามีได้หลายวิธีแพทย์จะพิจารณาจาก อายุ สภาพของผู้ป่วย ชนิดของคอพอกเป็นพิษ ความรุนแรงของโรค การรักษามีได้ 3 วิธี คือ
  1. การรับประทานยาเพื่อลดการสร้างฮอร์โมน เช่น PTU, Methimazole
  2. การรับประทานน้ำแร่ radioactive iodineเมื่อผู้ป่วยรับประทานน้ำแร่เข้าไป ต่อมไทรอยด์ก็จะรับ iodine ที่มีรังสีเข้าไป รังสีนี้จะทำลายเนื้อต่อมไทรอยด์ แพทย์จะคำนวณขนาดยาที่เหมาะสม หากได้มากเกินไปจะเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยจำเป็นต้องได้รับยา thyroid hormone ไปตลอดชีวิต แต่ถ้าหากได้รับน้ำแร่น้อยไปผู้ป่วยยังคงเกิดอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษแต่รุนแรงน้อยลง แพทย์จะนัดให้ยาอีกครั้ง
  3. การผ่าตัด ปัจจุบันการผ่าตัดมีความนิยมลดลงไปมาก โดยเลือกใช้กับผู้ป่วยบางราย เช่น เด็ก วัยรุ่น หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหากับยาที่รักษา หรือผู้ที่มีต่อมโตมาก มีอาการทางตารุนแรง หรือมีก้อนในต่อม
  4. ยาอื่น beta blocker เช่น propanolol, atenolol, metoprolol เพื่อลดอาการของโรค

ฮอร์โมนไทรอยด์ขาด

ลักษณะฮอร์โมนไทรอยด์ขาด หรือ Hypothyroidism
ฮอร์โมนไทรอยด์ขาด คือ ภาวะที่ฮอร์โมนหลั่งออกมาน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย (ไฮโปฯ)
ส่วนคนที่ฮอร์โมนไทรอยด์ขาด ชีพจรจะเต้นช้า ขี้หนาว ความจำเสื่อม บวม ท้องผูก หากเป็นมากๆ และนานๆ จะทำให้สมองเสื่อม ความจำเลอะเลือน ถ้าเป็นในเด็กจะทำให้ตัวเล็กแคระแกรน และเป็นโรคเอ๋อได้ สาเหตุของโรค

ลักษณะ

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อย ทำให้ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) สร้างฮอร์โมน Thyroid stimulating hormone (TSH) ออกมามากเพื่อกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นทำให้ต่อมไทรอยด์โตขึ้นที่เราเรียกว่าคอพอก goiter

สาเหตุ

  • เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ thyroiditis
  • เกิดจาการตัดต่อมไทรอยด์มากเกินไป
  • เกิดจากการได้น้ำแร่ที่ใช้รักษาคอพอกเป็นพิษ

อาการ

ผู้ป่วยที่เป็นไม่มากอาจจะไม่อาการอะไร หากไม่รักษาโรคจะเป็นมากขึ้นจนเกิดของอาการต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย คือ
  • อ่อนเพลีย
  • ผิวหยาบและแห้ง ผิวซีด และผมแห้ง
  • อารมณ์ผันผวน
  • เสียงแหบ
  • ขี้ลืม
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • กลืนลำบาก
  • ขี้หนาว
  • เบื่ออาหาร

การวินิจฉัย

โดยการเจาะเลือดตรวจหา TSH T3 T4จะพบว่าค่า T4 ปกติหรือต่ำแต่ค่า TSH จะสูงเป็นการยืนยันการวินิจฉัย

การรักษา

  • โดยการให้ thyroid hormone ไปตลอดชีวิตโดยจะต้องเริ่มให้ในขนาดน้อยแล้วค่อยปรับยาจนกระทั่งระดับ T4 และ TSH อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ไม่ควรเปลี่ยนยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • ควรตรวจหาระดับ TSH เป็นระยะเพื่อปรับยาไทรอยด์การเจาะเลือดปีละครั้ง
หากการวินิจฉัยไม่ผิดพลาดท่านจะต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าท่านจะป่วยจากโรคอื่น

ฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ

ฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ คือ ภาวะที่ฮอร์โมนหลั่งออกมาตามปกติ แต่เกิดความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ และอาจส่งผลกระทบต่อการหลั่งปริมาณฮอร์โมนได้บ้างเช่นกัน

การวินิจฉัย

การตรวจเลือดหาระดับไทรอยด์ฮอร์โมน

ต่อมใต้สมอง pituitary gland จะสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า Thyroid stimulating hormone TSH ทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ สร้างฮอร์โมน T3 (triiodothyronine) and T4 (thyroxine) เพื่อให้ร่างกายเผาผลาญอาหาร
  • หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไปเรียก Hyperthyroidism ตรวจเลือดจะพบว่า T3 หรือ T4 สูงแต่ TSH ต่ำ
  • หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไปเรียก Hypothyroidism ตรวจเลือดจะพบว่า T3 หรือ T4 ต่ำแต่ TSH สูง

Thyroid scan

ภาพสแกนต่อมไทรอยด์
ภาพสแกนต่อมไทรอยด์
คือการตรวจต่อมไทรอยด์โดยการให้ผู้ป่วยรับประทานเกลือ Iodine ที่อาบสารรังสี หลังจากนั้นจึงนำผู้ป่วยเข้าเครื่องตรวจ ประโยชน์ Thyroid scan คือ
  • บอกว่าต่อมไทรอยด์มีการอักเสบหรือไม่ Thyroiditis
  • บอกว่าต่อมไทรอยด์มีการสร้างฮอร์โมนเพิ่มหรือไม่ hyperthyroid
  • แยกก้อนที่ไทรอยด์ว่าเป็น Hot หรือ Cold nodule
Hot nodule หมายถึงก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีการสร้างฮอร์โมนสูงมักจะไม่เป็นมะเร็ง ส่วน cold nodule มีโอกาสเป็นมะเร็ง 5 % มะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็น cold nodule

Needle aspirate

การใช้เข็มเจาะเนื้อไทรอยด์โดยการใช้เข็มเล็กๆดูดเนื้อเพื่อนำส่งตรวจทางกล้องจุลทัศน์เพื่อตรวจเนื้อเยื่อว่าเป็นมะเร็ง คอพอกเป็นพิษ หรือเป็น cyst

การตรวจ ultrasound

การอัลตราซาวด์
เพื่อตรวจดูว่าก้อนไทรอยด์ที่โตเป็นก้อนเนื้อหรือเป็น cyst

โรคของต่อมไทรอยด์

  • ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยไปเรียก Hypothyroid
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานมากไปเรียก Hyperthyroid
  • ต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมกับตาโปนเรียก Graves’ disease
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ Hashimoto's Thyroiditis
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เรียก Thyroid Nodules
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ Thyroid cancer
  • ไทรอยด์กับสุขภาพสตรี
  • ยารักษาต่อมไทรอยด์
  • I-131

มะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ แตกต่างจากการเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะมะเร็งต่อมไทรอยด์มักจะรักษาให้หายขาด ไม่มีอาการเจ็บปวด และการวินิจฉัยทำได้ง่ายพบได้ไม่บ่อย หากพบเร็วสามารถรักษาหายได้
ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องก้อนที่คอโดยที่ไม่มีอาการปวด แต่ต้องจำไว้ว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์ร้อยละ 90 ไม่เป็นมะเร็ง แต่เราไม่สามารถแยกเนื้อดีหรือมะเร็งโดยการตรวจร่างกายหรือจากประวัติหรือแม้กระทั่งการเจาะเลือด
การวินิจฉัยทำได้โดยการใช้เข็มเจาะเนื้อต่อมไทรอยด์ไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ แต่ก็มีบางรายที่มาด้วยเรื่องต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาการเสียงแหบเนื้อจากก้อนไปกดเส้นประสาท

ชนิดของมะเร็งไทรอยด์

Well-Differentiated Thyroid Cancer

Well-Differentiated Thyroid Cancer เป็นมะเร็งที่มีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติแบ่งเป็นสองชนิดคือ papillary และ follicular มะเร็งนี้พบประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งต่อมไทรอยด์ผลการรักษาค่อนข้างดี สาเหตุมักจะเกิดจากการได้รับรังสีรักษาในวัยเด็ก เช่นการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

Papillary

เมื่อส่องจากกล้องจุลทัศน์จะพบเป็นตุ่มยื่นออกมา มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยที่สุดของต่อมไทรอยด์คือพบได้ร้อยละ 70-80% มะเร็งชนิดนี้พบได้ทุกอายุ ก้อนมะเร็งโตช้า ประมาณหนึ่งในสามพบว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแต่ผลการรักษาก็ได้ผลดีแม้ว่าจะมีการแพร่กระจายไปแล้ว ดังนั้นในการผ่าตัดรักษาจึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแบบมากมาย

Follicular

มะเร็งชนิดนี้พบได้ร้อยละ 10-15% ของมะเร็งไทรอยด์ พบในคนสูงอายุกว่าชนิด papillary มะเร็งชนิดนี้แพร่กระจายง่ายกว่าชนิดแรก หากมะเร็งไม่แพร่กระจายการรักษามักจะได้ผลดี

การรักษา

การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก หากเป็นมะเร็งชนิดที่แพร่กระจายก็อาจจะต้องตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งทั้งหมด แต่หากเป็นชนิดที่ไม่แพร่กระจายอาจจะตัดเนื้อต่อมไทรอยด์บางส่วนออก การให้ไอโอดิน 131

การติดตามการรักษา

เนื่องจากมะเร็งต่อมไทรอยด์อาจจะเกิดซ้ำได้ดังนั้นอาจจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นระยะ ทำ ultrasound ที่คอ หรือทำ thyroid scan การเจาะเลือดเพื่อตรวจ thyroglobulin จะพบว่าสูง การให้ฮอร์โมน เนื่องจากว่าการรักษามีการตัดต่อมไทรอยด์ฮอร์โมนและมีการรับประทานน้ำแร่จึงต้องให้ฮอร์โมนไปตลอดชีวิต และการได้รับฮอร์โมนยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง

ต่อมไทรอยด์กับสตรี

จะพบผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ซึ่งทำให้วิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตัวเองและบุตร ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ

การตั้งครรภ์

พบว่าผู้ป่วยที่เป็นคอพอกเป็นพิษหรือเป็นโรค Graves' disease เมื่อสามารถควบคุมอาการได้ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรรักษา Graves' disease ด้วยการผ่าตัดหรือให้น้ำแร่ก่อนการตั้งครรภ์ โดยแนะนำว่าให้สามารถตั้งครรภ์หลังจากรักษาอย่างน้อย 6 เดือน

การรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ Graves' disease ขณะตั้งครรภ์

มีข้อแตกต่างจากการรักษาในคนปกติคือไม่สามารถให้รับประทานน้ำแร่ และการให้ยา PTU Metimazole ต้องให้ขนาดน้อยที่สุดที่คุมโรค เนื่องจากไม่ต้องการให้ยาไปมีผลต่อเด็กเพราะยานี้สามารถผ่านรกไปสู่เด็กได้

การให้ฮอร์โมนไทรอคซิน Thyroxin ระหว่างการตั้งครรภ์

ฮอร์โมนนี้ใช้รักษาภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยหรือเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบ เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้ผ่านรกได้น้อยมากจึงไม่มีผลต่อเด็กในครรภ์

ระหว่างการให้นมบุตร

ไม่ควรตรวจทาง thyroid scan หรือรับน้ำแร่เพื่อรักษาในระหว่างการตั้งครรภ์ สำหรับยาที่ใช้รักษาเช่นฮอร์โมน Thyroxinและ PTU สามารถให้ระหว่างการให้นมเพราะผ่านสู่เด็กได้เพียงเล็กน้อย

การเป็นหมัน

ทั้งคอพอกเป็นพิษหรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยจะมีบุตรยาก เมื่อรักษาดีแล้วก็สามารถมีบุตรได้เหมือนคนปกติ นอกจากนั้นหากไม่รักษาความต้องการทางเพศก็จะลดลง.

การมีประจำเดือน

คอพอกเป็นพิษจะมีประจำเดือนน้อยกว่าคนปกติ ส่วนคนที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยจะมีประจำเดือนมากกว่าคนปกติ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย

การดูแลตัวเอง

นั่งสมาธิ

ขณะนั่งสมาธิ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะทำงานช้าลง เช่น ชีพจร การเต้นของหัวใจ การหายใจ ทำให้ปริมาณการใช้ออกซิเจน ตลอดจนการเผาผลาญในร่างกายลดลงด้วย เราจึงรู้สึกผ่อนคลาย เมื่อวัดระดับกรดแล็คติค (Lactic Acid) ในเลือดก็มีค่าลดลงเช่นกัน โดยคนที่มีระดับกรดแล็คติคมากเกินไป จะส่งผลให้มีอาการเครียด วิตกกังวล จนถึงขึ้นตื่นตระหนกทีเดียว และเมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมองก็จะพบว่ามีคลื่นอัลฟ่า (Alfa Wave) ในสมองเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นคลื่นที่ส่งผลทำให้จิตใจสงบ เพราะในสมองของคนเรามีสารสื่อประสาทหรือสารเคมีอยู่มากมาย หากสารบางอย่างลดน้อยหรือเพิ่มมากเกินไป ย่อมทำให้ระบบเสียสมดุล จนแสดงออกมาเป็นความผิดปกติต่างๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น ถ้า"ซีโรโตนิน" ลดน้อยลง คนนั้นจะมีอาการซึมเศร้า หดหู่ หรือถ้ามี "เอ็ปเป็บนิซิน" หรือ "นอร์เป็บนิซิน" มากเกินไป ก็จะมีอาการเครียด วิตกกังวล
การนั่งสมาธิจึงมีบทบาทอย่างหนึ่งในการช่วยปรับให้สารสื่อประสาทเหล่านั้นกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล และทำงานเป็นระบบ นอกจากนี้ สารเอ็นโดรฟินซึ่งเปรียบได้กับฝิ่นที่มีอยู่ในคนเรานั้นเอง ที่จะหลั่งออกมาเมื่อนั่งสมาธิได้ถึงระดับหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้จิตใจเราเป็นสุข รู้สึกปีติ อิ่มเอิบ จึงคลายเครียดได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของอิมมูนซิสเต็มได้เป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวที่มีคุณภาพ

อาหารสุขภาพ

ควรทานอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย เพราะอาหารจากธรรมชาติจะยังคงคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ แป้งไม่ขัดขาว พืชผักผลไม้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล(รสไม่หวาน)โดยเฉพาะกล้วยมีสารที่ช่วยลดแล็คติค เอเบค ( Lactic Acid)ช่วยลดอาการเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคไทรอยด์ เนื้อปลา ตลอดจนธัญพืชนานาชนิด ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างกายสามารถ "ใช้อาหารเป็นยา และใช้ยาเป็นอาหาร" อาหารที่มีโปรตีนสูง (โดยเฉพาะจากธัญพืช) วิตามินและเกลือแร่จากธรรมชาติเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
สำหรับคนที่ดื่มชากาแฟ ให้ลองเปลี่ยนมาดื่มน้ำชาสมุนไพรแทน เช่น ตะไคร้ ขิง ดอกคำฝอย ก็จะช่วยเป็นทั้งยาและเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่นได้เป็นอย่างดี

มองโลกในแง่ดี

การมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ จะช่วยรักษาสมดุลจิตใจของคนที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ได้ดี วิธีนี้ช่วยลดความวิตกกังวล และความฟุ้งซ่านได้ โดยเริ่มจากการรู้จักชื่นชมตัวเองและชื่นชมคนรอบข้าง ลองนึกถึงสิ่งดีๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและรู้จักขอบคุณธรรมชาติ

มีเพื่อนไว้พูดคุยคลายทุกข์

ควรพูดคุยระบายออกมากับครอบครัว หรือเพื่อนที่รู้ใจ โดยเฉพาะเพื่อนที่มีปัญหาเดียวกัน ซึ่งจะคอยรับฟังและดูแลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

หากิจกรรมทำเพื่อความเพลิดเพลิน

ไม่ว่าการวิธีเขียนไดอารี่ วาดภาพ อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ช่วยทำให้จิตใจดีขึ้นกว่าการนั่งจมจ่อมอยู่กับปัญหา

การรับประทานน้ำแร่

เนื่องจากว่าไอโอดินเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ การให้ไอโอดินที่อาบรังสีจะทำให้รังสีทำลายเนื้อมะเร็ง การรักษาโดยวิธีนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทาน Iodine ที่อาบรังสีซึ่งอาจจะทำเป็นรูปสารละลาย หรือแคปซูล I-131 นี้จะไปจับกับเนื้อไทรอยด์อย่างรวดเร็ว และเริ่มทำลายเนื้อไทรอยด์ โดยจะเห็นผลใน 6-18 สัปดาห์ ก่อนได้รับสารนี้ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนทุกครั้ง

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ Radioactive iodine ในคนท้อง หญิงให้นมบุตร ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนให้สารนี้และควรจะคุมกำเนิดหลังจากได้ยานี้อีก 4 เดือน

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่ได้รับน้ำแร่

หลักการรักษาผู้ป่วยด้วยน้ำแร่คือการนำเอา Iodine ไปอาบรังสีเพื่อรักษา เมื่อท่านกินน้ำแร่ต่อมไทรอยด์จะจับแร่ดังกล่าวไว้ รังสีก็จะทำลายต่อมไทรอยด์ แม้ว่ารังสีที่ได้รับจะมีปริมาณไม่มากแต่ท่านควรป้องกันคนใกล้ชิดของท่านมิให้ได้รับรังสีนั้นโดยวิธีการดังนี้
  1. ให้อยู่ไกลผู้อื่น ช่วง 2-3 วันแรกให้แยกตัวจากผู้อื่น โดยการแยกห้องนอน งดการกอด หรือมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงคนท้อง และเด็ก
  2. ลดระยะเวลาที่ต้องสัมผัสกับผู้อื่น เนื่องจากการปริมาณรังสีที่ได้รับขึ้นกับระยะเวลาที่สัมผัสดังนั้นควรอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นให้น้อยที่สุด
  3. รักษาสุขลักษณะให้ดีที่สุด ให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ ให้ชักโครก 3-4 ครั้ง แยกถ้วยชามอาหารในระยะแรก ล้างห้องน้ำหรืออ่างล้างหน้าทุกครั้งที่เปื้อนน้ำลายหรือเหงื่อของผู้ป่วย

ข้อควรระวัง

  • ถ้าหากท่านตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับน้ำแร่
  • ถ้าท่านเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเองให้งดให้นมบุตรเนื่องจากน้ำแร่สามารถผ่านทางน้ำนมได้

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น