วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

ดูไบกับเวียดนาม


คนเดินตรอก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
เมื่อวันศุกร์ปลายเดือนพฤศจิกายน เกิดการตื่นตระหนกเพราะบริษัท ดูไบ เวิลด์ประกาศเลื่อนชำระหนี้ออกไปอีก 6เดือน กล่าวคือจะไปจ่ายเอาเดือนพฤษภาคม 2553 หนี้ที่ครบกำหนดดังกล่าวตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีเพียง3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากหนี้ทั้งหมดของนครรัฐดูไบ เห็นว่ามีทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สื่อมวลชนตะวันตกประโคมข่าวกันจนกลายเป็นข่าวใหญ่ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงตกลงกว่า 1,000 จุด กระทบตลาดหุ้นไปทั่วโลก ที่แปลกก็คือค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทันที โดยค่าเงินสกุลหลักสำคัญสำคัญ เช่น ยุโรป เยน และอื่น ๆ รวมทั้งค่าเงินบาทตกลงทันที ราคาทองคำ ราคาน้ำมันตกลงทันทีอย่างฮวบฮาบ จนบัดนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่า

เหตุการณ์เช่นว่านั้นเขย่าตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอื่น ๆ ได้มากมายขนาดนี้ได้อย่างไร พยายามอ่านหนังสือจากตะวันตก ก็ยังหาคำอธิบายในเชิงเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้
ดูไบเป็นนครรัฐนครหนึ่ง ในทั้งหมด นครรัฐ ที่มารวมกันเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งมีทั้งหมด นครรัฐ อันได้แก่ ดูไบ อาบูดาบี ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางที่ตั้งของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศนี้ด้วย นอกนั้นก็มี นครรัฐไคมาห์ นครรัฐฟูไจราห์ นครรัฐซาร์จาห์ นครรัฐไกไวน์ อัจมาน ทั้งนครรัฐมีประชากรรวมกันประมาณ ล้านกว่าคน ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของนครรัฐทั้ง ก็คือ น้ำมัน เจ้าผู้ครองนครหรือสุลต่านทั้งหมดเป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น เจ้าผู้ครองนครอาบูดาบีเป็นพี่ชายของเจ้าผู้ครองนครดูไบ

นครรัฐทั้ง ได้รับเอกราชพร้อม ๆ กันจากอังกฤษ เมื่อปี 2514 เป็นชาติที่มีความร่ำรวยจากการขายน้ำมัน รายได้ต่อหัวของพลเมืองมีสูงถึงประมาณ 24,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สุดแท้แต่ว่าจะคำนวณตอนที่ราคาน้ำมันเป็นเท่าใด
สำหรับนครรัฐดูไบนั้นมีนโยบายไม่เหมือนนครรัฐอื่น เพราะที่ตั้งนั้นเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านการคมนาคมทางทะเลและทางอากาศ ดูไบจึงเป็นชุมชนการขนส่งน้ำมันดิบและเป็นประตูเข้าออกของสินค้าจากประเทศอาหรับต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันออกกลางมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยเหตุนี้ดูไบจึงประกาศเป็นเขตเสรีปลอดภาษี (free port)เหมือนกับสิงคโปร์และฮ่องกง เป็นศูนย์กลางสินค้าปลอดภาษีในภูมิภาคนั้น
ท่าเรือของดูไบจึงเปรียบเสมือนท่าเรือของสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางของสินค้าเข้าออกของชาติอาหรับในภาคพื้นตะวันออกกลาง

เนื่องจากที่ตั้งของดูไบเป็นศูนย์กลางทางการค้าการเดินเรือ การขนส่งทางอากาศ เป็นศูนย์กลางระหว่างยุโรปและเอเชียตะวันออกไกล ดูไบจึงสามารถสร้างตนให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินการธนาคารของชาติอาหรับต่าง ๆ และดูไบซึ่งมีประชากรมากเป็นสองเท่าของสิงคโปร์ หรือประมาณเท่า ๆ กับฮ่องกง จึงประสบความสำเร็จในการทำตัวเป็นศูนย์กลางทางการค้า การท่องเที่ยวและการเงินในภูมิภาคนั้นแทนเลบานอน เพราะเลบานอนถูกพิษสงครามเล่นงาน

เพื่อให้ประสบความสำเร็จดังกล่าว เจ้าผู้ครองนครรัฐดูไบจึงมีนโยบายเปิดประเทศ ผ่อนปรนทางด้านศาสนา ไม่เคร่งครัดเท่ากับนครรัฐอื่น ๆ ทางด้านการเมืองก็ไม่แข็งขันต่อต้านตะวันตก เท่ากับรัฐอาหรับอื่น ๆ

การที่บริษัทดูไบ เวิลด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่กองทุนดูไบของนครรัฐเข้าไปถือหุ้นส่วน ได้ริเริ่มลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกาศโครงการสร้างเมืองในทะเลเป็นรูปแผนที่โลก ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่รัฐบาลสหรัฐและสื่อมวลชนสหรัฐประกาศ การลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นปัญหาอย่างที่เห็น

เมื่อสื่อมวลชนตะวันตกพากันประโคมข่าว แล้วก็พากันทุบค่าเงินสกุลต่าง ๆ ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และอื่น ๆ โดยไม่ได้รายงานว่า ทุนสำรองของธนาคารชาติของสหรัฐอาหรับอามิเรสต์มีเท่าใด ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลหรือขาดดุลเท่าใด ยอดหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมีเท่าใด พันธะทางการเงินของธนาคารกลางต่อภาระหนี้สินของรัฐบาลนครรัฐเป็นเท่าใด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของสื่อมวลชนตะวันตก และสถาบันการเงิน รวมทั้งผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ในตะวันตกด้วย

เมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็โชคดีที่มีเวลาหายใจในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทำให้ตลาดได้ย่อยข่าวสารต่าง ๆ พอถึงเวลาที่ตลาดเปิดทำการในวันจันทร์ ตลาดเงินตลาดทุน ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ จึงปรับตัวกลับมาอยู่ที่เดิมภายในเวลาอันสั้น

สถานการณ์ไม่ได้ลุกลามไปสู่นครรัฐอื่น ๆ และไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค จึงเชื่อได้ว่าสถานการณ์คงจะหยุดอยู่เพียงดูไบเท่านั้นเอง การเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ก็คงจะดำเนินไปตามปกติ
ที่จริง ถ้าธนาคารกลางจะเข้าไปดูแล เรื่องก็คงจะจบไปแล้ว แต่เจ้าผู้ครองนครอาบูดาบีคงต้องการบีบดูไบและธนาคารเจ้าหนี้เพื่อจะได้ซื้อในราคาที่ถูกกว่านี้ เรื่องทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของครอบครัว เจ้าผู้ครองนครต่อรองกับเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารในยุโรปมากกว่าไม่น่าจะมีผลอะไรกับภูมิภาคอื่น

วิกฤตการณ์ทางการเงินของบริษัทดูไบ เวิลด์ และประเทศดูไบ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของอเมริกาและของโลกยังไม่สิ้นสุดลง ผลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกา ยุโรป และของโลก ยังคงอยู่ที่สื่อมวลชนตะวันตกพยายามทำข่าวว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและของโลกเริ่มฟื้นตัวแล้วนั้นไม่เป็นความจริง โอกาสที่เศรษฐกิจของอเมริกาและของโลกจะฟุบลงอีกยังมีอยู่มาก แต่ไม่ใช่สาเหตุจากเหตุการณ์ที่ดูไบ ความจริงแล้วเหตุการณ์ที่ดูไบนั้นเป็นผลเสียมากกว่า

สำหรับสถานการณ์ทางการเงินของประเทศเวียดนามที่เลวลง จนประเทศเวียดนามต้องประกาศลดค่าเงินด่องของเวียดนามลงอีก เปอร์เซ็นต์ นั้นเป็นข่าวที่น่าห่วง เพราะเวียดนามนั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทยของเรา หากเกิดอะไรขึ้นกับเวียดนามก็อาจจะมีผลมาถึงประเทศไทยได้ เหมือนเมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกลายเป็นโรคติดต่อระบาดไปถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แล้วลุกลามไปถึงเกาหลีใต้ แล้วข้ามไปถึงรัสเซีย และบราซิลก่อนจะยุติลง

ปัญหาของเวียดนามที่พยายามจะใช้รูปแบบของจีนในการพัฒนาประเทศให้ขยายตัวในอัตราที่สูง จนทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเครื่องร้อน เพราะอัตราการลงทุน ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน เมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ หรือ จี.ดี.พี. แล้วมีอัตราที่สูงมาก

ในขณะที่การลงทุนในเวียดนามมีอัตราที่สูง แต่การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวในอัตราที่น้อยที่ไม่ทันกับอัตราการขยายตัวของการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ผลก็คือ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามขาดดุลอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับ จี.ดี.พี.

เวียดนามเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วประกาศลงค่าเงินด่องลง แต่ลดค่าลงไม่พอ ตลาดยังไม่มั่นใจว่าทางการเวียดนามจะสามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนนี้ไว้ได้ เงินจึงยังคงไหลออกจากเวียดนามอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินกับอัตราทางราชการนั้นแทนที่จะแคบลงกลับค่อย ๆ ห่างกันมากขึ้น
ในที่สุดทางธนาคารชาติเวียดนามก็ต้องประกาศลดค่าเงินด่องลงไปอีกร้อยละ เมื่อประกาศลดค่าเงินด่องลงไปอีกเปอร์เซ็นต์ พร้อมกับลดอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินแต่ละวันลง

ปรากฏว่าเวียดนามลดค่าเงินลง เปอร์เซ็นต์ ตลาดก็ยังไม่เชื่อว่าทางการได้ลดค่าลงเพียงพอที่จะไม่ต้องลดค่าเงินลงอีกแล้ว ตลาดยังคาดการณ์ว่าทางการคงเอาไว้ไม่อยู่ เงินจึงยังคงไหลออกจากตลาดต่อไป

สถานการณ์อย่างนี้น่าเป็นห่วง เพราะมีอาการคล้าย ๆ กับสถานการณ์ของประเทศไทยเมื่อปี 2539 ที่ประเทศไทยมีทุนสำรองน้อยกว่าหนี้สิน และในบรรดาหนี้สินทั้งของรัฐบาลและของเอกชนสัดส่วนของหนี้รายะสั้นมีสูงกว่าหนี้ระยะยาว ที่สำคัญเวลาประกาศลดค่าเงินสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องลดให้พอจนตลาดเชื่อว่าเป็นการลดที่เพียงพอแล้ว ค่าเงินจะไม่ลดต่อไปอีก การลดค่าที่ขยักขย่อนไม่เพียงพอที่จะให้ตลาดเกิดความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง
เมื่อลดค่าเงินแล้วต้องมีมาตรการทางการเงินเสริม กล่าวคือต้องพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลง ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันการไหลออกของเงิน และลดอัตราการลงทุนลง เพื่อให้การขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง

ต้องคอยดูต่อไปว่าเวียดนามจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างไรต่อไป จะดึงสถานการณ์ไว้อยู่หรือไม่ หรือจะเดินหน้าเข้าสู่ วิกฤตการณ์แหนมเนือง หรือไม่

ถ้าวิกฤตการณ์ของการเงินระเบิดขึ้น ปัญหาจะกระทบเราหลายด้าน เรื่องแรกวิกฤตการณ์จะกลายเป็นโรคระบาดมายังภูมิภาคอินโดจีนเหมือนโรคต้มยำกุ้งหรือไม่ แม้ว่าในภูมิภาคอาเซียน ประเทศต่าง ๆ ยังมีทุนสำรองที่เข้มแข็ง แต่ก็คงประมาทไม่ได้ เรื่องที่สอง ถ้าเกิด วิกฤตการณ์แหนมเนือง ค่าเงินด่องคงจะลดลงไปอีก ซึ่งก็คงกระทบกระเทือนต่อการแข่งขันของสินค้าส่งออกประเภทเดียวกัน

เรื่องดูไบไม่น่าเป็นห่วง เป็นเรื่องในวงญาติเขาเองกับธนาคารของฝรั่ง แต่เรื่องเวียดนามนั้นน่าห่วง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น