วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

แผนพัฒนาตลาดทุนมุ่งขจัดการผูกขาดจริงหรือ

จับกระแส : อภิญญา มั่นช้อย apinya@nationgroup.com กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ไม่นาน ถือเป็นความท้าทายสูง เพราะจาก 8 มาตรการที่จะใช้ในการปฏิรูปตลาดทุนไทยนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายสุดโต่งในการเปิดเสรีการเงินเต็มรูปแบบ แต่ต้องการที่จะขจัดการผูกขาดในแวดวงตลาดทุน และต้องการปรับโครงสร้างภาษีล็อตใหญ่ที่กำลังถูกบิดเบือนอยู่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จะมีผลกระทบกับบางกลุ่มที่เคยหาประโยชน์จากตลาดทุน

8 มาตรการปฏิรูปตลาดทุน ประกอบด้วย การยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง การปฏิรูปกฎหมายสำหรับพัฒนาตลาดทุน การปรับปรุงระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ และการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

การยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดนั้น หากมองผิวเผินก็เป็นเพียงการปรับองค์ของตลาดเอง เพื่อรองรับการแข่งขัน แต่หากมองอีกมุมเพื่อต้องการให้ตลาดมีความเป็นกลาง ไม่ได้ถูกครอบงำจากโบรกเกอร์ เพราะจากปัจจุบันคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มีตัวแทนจากโบรกเกอร์กว่า 50% ทำให้การเสนอแนวคิด หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ จะคำนึงถึงอุตสาหกรรมมากกว่าภาพรวม

นั่นเป็นเพียงสเต็ปแรกที่จะลดอำนาจการต่อรองของโบรกเกอร์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า คือ โบรกเกอร์จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง จากการกำหนดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (ค่าคอมมิชชั่น) ในอัตราแบบขั้นบันได และในปี 2555 จะมีการเปิดเสรีแบบเต็มรูปแบบ นั่นก็หมายถึง สัญญาณการล้มหายตายจากของบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งในอดีตก็เคยเห็นมาแล้ว แต่รอบนี้ "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เลขาธิการ ก.ล.ต. ยืนกระต่ายขาเดียวบอกว่า ยังไงๆ ก็ต้องเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปี 2555 แม้ผู้ประกอบการจะทำหนังสือขอเลื่อนการเปิดเสรีไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจาก ก.ล.ต.

เป้าหมายการเปิดเสรีนอกเหนือจากการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ แล้ว จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโบรกเกอร์ เพราะเส้นทางการแข่งขันของโบรกเกอร์ไม่ใช่แค่แข่งขันกันเองภายใน แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันภายนอกด้วย ดังนั้น การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น จึงเป็นการปิดอำนาจการต่อรองของโบรกเกอร์ ขณะที่ลูกค้าจะพลิกกลับมาเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองทันที

โบรกเกอร์ที่จะอยู่รอดต้องมีคุณภาพจริงๆ มาร์เก็ตติ้งจะต้องมีความรู้ทุกตลาด สามารถแนะนำการลงทุนทั้งตลาดการซื้อขายปกติ ตลาดอนุพันธ์ หรือแม้กระทั่งการแนะนำตราสารทางการเงินอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน นั่นก็เพียงหนึ่งในเป้าหมายของแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับนี้ แต่ยังมีอีกหลายประเด็น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในแวดวงตลาดทุน

โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ก็มีคำถามตามมาว่าจะสามารถบริหารจัดการอย่างมืออาชีพได้เหมือนกับตลาดหุ้นในต่างประเทศได้หรือไม่ และที่สำคัญ จะหลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองได้หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น