วันอาทิตย์, ธันวาคม 27, 2552

สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2553

สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2553 … มีแนวโน้มลดลง ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในปี 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดเป็นข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 พร้อมทั้งประเมินแนวโน้มสภาพคล่องในปี 2553 ดังต่อไปนี้
ฐานะสภาพคล่องล่าสุดในปี 2552 … เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
สภาพคล่องที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของยอดเงินฝากและสินเชื่อ ลดลงในเดือนพฤศจิกายน 2552 สอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 5.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08 แสนล้านบาท จาก 5.58 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นขนาดการเพิ่มขึ้นที่มากกว่ายอดเงินฝากที่เพิ่มขึ้น 7.92 หมื่นล้านบาท จาก 6.36 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม มาเป็น 6.44 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2551 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2552 อันเป็นผลหลักจากยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิที่หดตัวมากกว่าเงินฝาก (เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลงจากสิ้นปี 2551 จำนวน 1.23 แสนล้านบาท ขณะที่เงินฝากลดลง 4.23 หมื่นล้านบาท) หลังจากที่สินเชื่อเพิ่งจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
ส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)1 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 แทบไม่เปลี่ยนแปลงโดยขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2,113.9 พันล้านบาท ปรับขึ้นเพียง 336 ล้านบาท จาก 2,113.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 อันเป็นผลหลักจากการลดลงในองค์ประกอบหลักอย่างเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น
ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์และเงินสดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น พบว่า มีจำนวน 7.84 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ลดลงจำนวน 4.02 หมื่นล้านบาท จาก 8.24 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม
การขยับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าของสภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่2 โดยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจำนวน 2.50 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.40 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 สวนทางกับสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่ลดลงจำนวน 2.30 หมื่นล้านบาท และ 1.66 พันล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 4.91 แสนล้านบาท และ 2.18 แสนล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.30 แสนล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก จำนวน 2.14 แสนล้านบาท ขณะที่ สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง 3.24 หมื่นล้านบาท และ 5.21 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
แนวโน้มสภาพคล่องในปี 2553  ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มในปี 2553 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีทิศทางที่ปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2552 โดยได้รับอิทธิพลหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าอาจขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 2.5-3.5 ในปี 2553 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 3.1 ในปี 2552 ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นดังกล่าว คงจะมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะข้างหน้า ผ่านการปรับตัวของตัวแปรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่
ปริมาณสภาพคล่องที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอาจมีลดลง
เนื่องจากสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่กระจายอยู่ในตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน และสภาพคล่องที่หมุนเวียนอยู่ในมือของภาคธุรกิจและครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ย่อมมีผลต่อสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะภาคส่วนต่างๆ ยังคงอาศัยกลไกธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจลดลงจากประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 มาที่ประมาณ 1.0-1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าการนำเข้ามีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้น ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ แนวโน้มการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการฟื้นตัวของการส่งออกที่คงจะสนับสนุนความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าทุน เพื่อผลิตและส่งออกต่อ ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อนึ่ง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะลดลงในปี 2553 ดังกล่าว สะท้อนว่า สภาพคล่องที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และตลาดธนาคารพาณิชย์ อาจมีปริมาณที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ในขณะที่ แม้ว่าประเทศไทยอาจจะได้รับอานิสงส์จากเงินลงทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มไหลเข้าสุทธิมายังภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อันเป็นผลจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนดังกล่าวที่มักจะผันผวนหรือเปลี่ยนทิศอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นหลัก ทำให้คาดว่าอานิสงส์ดังกล่าวอาจถูกจำกัดไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงเสียดทานจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงความไม่ชัดเจนของการลงทุนในบางสาขา
ความต้องการสินเชื่อที่น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
การทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะผลักดันให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อ ทั้งเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและเพื่อใช้ในการขยายกิจการ/การลงทุน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2553 หลังจากที่ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยเริ่มจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 (ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนพฤศจิกายน) เทียบกับที่หดตัวลงเป็นส่วนใหญ่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในแดนบวกได้ในปี 2553 ก็หมายความว่าสภาพคล่องในมือของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มจะถูกระบายออกไปหมุนเวียนอยู่ในมือของภาคธุรกิจเอกชนและภาคครัวเรือนมากขึ้น
การแข่งขันระหว่างเงินฝากกับทางเลือกการออมอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ของภาคธุรกิจเอกชนในปี 2553 อาจมีแนวโน้มจะลดความคึกคักลงจากปี 2552 เมื่อต้นทุนในตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสาร/สินทรัพย์ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจ อาทิ ตราสารหนี้ต่างประเทศ หุ้น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนรายย่อย ตราบใดที่ตลาดยังไม่เพิ่มการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อันจะทำให้เงินดอลลาร์ฯปรับแข็งค่าขึ้นและราคาสินทรัพย์อย่างหุ้น ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ มีโอกาสปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ในปี 2553 รัฐบาลก็ยังมีแผนจะออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มเติมอีกเพื่อระดมเงินไปใช้สำหรับโครงการลงทุนภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้ในที่สุดแล้ว ผู้ออมอาจยังมีการโยกเงินฝากออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาสู่ปริมาณสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง
การปรับตัวของตัวแปรต่างๆ ดังกล่าว คงจะนำมาสู่ปริมาณสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ทยอยปรับตัวลดลงในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วในการระบายสภาพคล่องออกไปจากธนาคารพาณิชย์ จะขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องและชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในกรณีที่เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและปัญหาที่เกี่ยวกับการลงทุนสามารถคลี่คลายลงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว การคาดการณ์ถึงสภาพคล่องที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต อาจจะผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (โดยน่าจะเริ่มจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวก่อน) และนำมาสู่การแข่งขันทางด้านราคาในผลิตภัณฑ์เงินฝาก ซึ่งในท้ายที่สุดอาจมีผลในการช่วยให้สภาพคล่องชะลอการปรับลงได้
ในทางตรงกันข้าม หากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขาดความต่อเนื่อง สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยก็อาจยังทรงตัวหรือทยอยปรับลดลง เนื่องจากผู้ออมคงจะมีการโยกเงินฝากออกไปลงทุนในทางเลือกการออมอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่จังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์น่าจะถูกเลื่อนออกไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ปริมาณสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ก็มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2553 และอาจมีผลทำให้วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยของระบบการเงินไทยยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่จังหวะขาขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจและครัวเรือนจึงควรที่จะเตรียมวางแผนรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต อันน่าจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจและการจัดสรรเงินออมสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวัง สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 ที่น่าจะสดใสกว่าในปี 2552 ที่ผ่านมา
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น