วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

32 แจ๋วสุด ยิ่งเกษียณช้า ยิ่งขาดทุน

ทุนมนุษย์ 2020 : จุมพฏ สายหยุด กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2552
มีคนบอกว่าผู้หญิงจะสวยที่สุดตอนอายุ 32 เรื่องนี้ผมก็ว่าจริง แต่นักวิทยาศาสตร์ยังบอกอีกว่าในวัย 32 อีกนั่นเอง คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด แถมยังบอกด้วยว่าคนยิ่งเกษียณช้า ยิ่งเหลือเวลาใช้เงินน้อย
เมื่อหลายปีก่อนมีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งคือ ดร. ลีโอ เอซากิ บรรยายว่า การค้นพบและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลมักจะเกิดขึ้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นมีอายุเฉลี่ย 32 ปี แม้ว่าการได้รับรางวัลโนเบลจะเกิดขึ้นหลังจากการค้นพบอีกราว 10 ถึง 20 ปี ให้หลัง
ทั้งนี้จุดสูงสุดของความคิดสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในขณะที่พวกเขามีอายุอยู่ระหว่าง 20 ถึง 30 ปี และเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ประสบการณ์ย่อมเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์กลับลดลงอย่างคงที่ตามอายุที่เปลี่ยนไป
ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงสำคัญยิ่งที่เราจะต้องกระตุ้น ให้กำลังใจ และปลูกฝังคนหนุ่มสาวจำนวนมากให้มีความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ในช่วงวัยที่พวกเขายังหนุ่มสาว และจัดสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการค้นคว้าและวิจัยที่ดีที่สุด เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิศวกรรมหนุ่มสาวที่ทรงพลัง ได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ที่ทรงพลังอย่างเข้มแข็งในช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่ง และเปี่ยมด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ที่สุดสูงในช่วงเกณฑ์อายุ 32 ปี
การที่คนเราสามารถปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่อายุยังน้อย ยังทำให้เขามีโอกาสสร้างผลงานและเกษียณอายุได้เร็ว ซึ่งดีต่อสุขภาพของเขาอีกด้วย ส่วนคนที่เกษียณช้าจะมีชะตากรรมในทางตรงข้าม
กองทุนบำนาญในองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมาก (เช่น โบอิง, ล็อกฮีท มาร์ติน, เอทีแอนด์ที, ลูเซนท์ เทคโนโลยีและอื่นๆ) อยู่ในภาวะที่มีเงินกองทุนล้นเกิน เพราะคนส่วนใหญ่ที่ “เกษียณอายุล่าช้า” ผู้ที่ยังต้องทำงานจนล่วงเข้าวัยชรา และเกษียณหลังจากวัย 65 ปี มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตภายใน 2 ปี หลังการเกษียณอายุ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ส่วนใหญ่ของผู้ที่เกษียณอายุล่าช้า มีชีวิตอยู่ไม่ยืนยาวพอที่จะเก็บเกี่ยวดอกผลจากเงินบำนาญที่ตนสมควรได้รับ จึงทำให้มีเงินที่ไม่ถูกใช้จำนวนมหาศาลค้างคาในกองทุนบำนาญ ส่งผลให้กองทุนบำนาญมีเงินล้นเกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ ข้อมูลจากตารางแสดงการศึกษาค่าสถิติเรื่องอายุขัย และอายุขณะเกษียณอายุ อ้างอิงจากฐานข้อมูลเช็คเงินบำนาญที่ส่งให้กับผู้เกษียณอายุของ โบอิง แอโรสเปซ ชี้ให้เห็นว่า คนที่เกษียณในวัย 50 ปี จะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยที่ 86 ปี ในขณะที่ผู้ที่เกษียณในวัย 65 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 66.8 ปี เท่านั้น
บทสรุปที่สำคัญจากการศึกษานี้คือ ทุกๆ หนึ่งปีที่เรายืดอายุการทำงานออกไปเมื่อเรามีอายุเกิน 55 ปีแล้ว เราจะสูญเสียอายุขัยโดยเฉลี่ย 2 ปี นั่นคือหลังวัย 55 ปีขึ้นไป การทำงานที่เนิ่นนานออกไป ทุก 1 ปี จะทำให้อายุขัยของเราสั้นลงโดยเฉลี่ย 2 ปี
ข้อมูลที่ว่านี้มาจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ เช่น โบอิง ที่ระบุว่าพนักงานที่เกษียณเมื่ออายุ 65 ปี จะได้รับเช็กเงินบำนาญเป็นเวลาเพียง 18 เดือน โดยเฉลี่ย ก่อนที่จะสิ้นชีวิต เช่นเดียวกัน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ล็อกฮีทคือ พนักงานที่เกษียณเมื่ออายุ 65 ปี จะได้รับเช็คบำนาญเพียง 17 เดือน โดยเฉลี่ยก่อนเสียชีวิต
เช่นเดียวกับผู้ที่เกษียณจากฟอร์ด มอเตอร์ได้บอกกับ ดร. พอล เทียน ลิน โฮ ว่า ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่ ฟอร์ด ก็เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่โบอิง และล็อกฮีท
ผู้ที่เกษียณอายุล่าช้าที่ยังคงทำงานหนัก อาจจะสร้างภาวะเครียดอย่างหนักให้กับร่างกายและจิตใจที่ร่วงโรย การที่ต้องคร่ำเคร่งอย่างหนัก ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพที่รุนแรงบีบบังคับให้ต้องลาออกและเกษียณงาน และปัญหาสุขภาพที่รุนแรงอันเป็นผลมาจากการที่ต้องเผชิญกับภาวะเครียดมายาวนาน ทำให้พวกเขาเสียชีวิตภายใน 2 ปี หลังจากลาออกหรือเกษียณจากงาน
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่เกษียณก่อนกำหนดในวัย 55 ปี มีแนวโน้มที่จะมีชีวิตยืนยาวด้วยสุขภาพที่ดีจนถึงวัย 80 ปี หรือนานกว่านั้น ผู้ที่เกษียณก่อนเหล่านี้ น่าจะต้องมีฐานะการเงินที่ดีกว่าหรือมีความสามารถมากกว่า ในการวางแผนและจัดการการใช้ชีวิตในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องของสุขภาพและการงานอาชีพ สามารถเกษียณก่อนอายุและมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย
ส่วนพวกเกษียณล่าช้าซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตรวดเร็วภายหลังการเกษียณ และหายสาบสูญไปจากสังคมผู้สูงอายุที่มีวัยเกิน 70 ปี
ความเห็นนี้ย่อมผู้แย้งจำนวนมากเพราะเห็นอยู่ตำตาเหมือนกันว่า มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่มีความสุขกับการทำงาน แต่กรณีนี้ผมเห็นว่ามักเกิดกับ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีฐานะดีมากกว่า
(เรียบเรียงจากบทความ Optimum Strategies for Creativity and Longevity โดย ดร.ซิง หลิน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น