วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

Dubai World เลื่อนชำระหนี้ สะเทือนตลาดการเงินโลก … ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


ตลาดการเงินโลกต้องสั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อ Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนชั้นนำของรัฐบาลดูไบ ได้ประกาศขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 การเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Dubai World สะท้อนให้เห็นถึงสถานะการเงินที่น่าเป็นห่วงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในดูไบที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ทั้งนี้ ความวิตกของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกก็คือ สถานะทางการเงินของ Dubai World รวมถึงบริษัทลูกอีกหลายแห่ง ซึ่งมีฐานการลงทุนในเศรษฐกิจนอกภาคการเงินทั้งในและต่างประเทศ อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลางและในส่วนอื่นของโลกได้ หลังจากที่เศรษฐกิจของหลายประเทศเพิ่งจะก้าวผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤตการณ์การเงินของโลกครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 8 ทศวรรษมาได้ไม่นาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย จากภาวะขาดสภาพคล่องของธุรกิจในดูไบ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
Dubai World ช็อคตลาดการเงินโลก
ตลาดการเงินโลกต้องประสบกับภาวะปั่นป่วนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลดูไบประกาศขอเลื่อนการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนของรัฐบาลดูไบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 แห่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี (นอกเหนือจาก Dubai Holding และ Investment Cooperation of Dubai) ออกไป 6 เดือนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด ยกเว้นบริษัท Dubai Ports World ซึ่งบริษัทในเครือ Dubai World มีหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในระยะอันใกล้นี้ได้แก่ หนี้สินของบริษัท Nakheel ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผู้สร้างผลงานอันมีชื่อเสียงและเป็นที่น่าทึ่งต่อสายตาโลก เช่น โครงการ The Palm ที่มีพันธบัตรอิสลามมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ และหนี้สินมูลค่า 980 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ขณะที่บริษัท Limitless บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครืออีกรายหนึ่งมีพันธบัตรมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 31 มีนาคม 2553 1โดยหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากจำนวนหนี้สินของ Dubai World รวมทั้งสิ้น 59,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นมูลหนี้ที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมดของรัฐดูไบรวม 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เจ้าหนี้รายใหญ่ของมูลหนี้ดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารแห่งรัฐอาบูดาบี (National Bank of Abu Dhabi) และธนาคารกลางยูเออี (UAE Central Bank) รวมถึงสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งประเมินว่ามีการปล่อยกู้ให้แก่ดูไบรวมกันสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ฯ2
บริษัทในเครือของดูไบ เวิล์ด (Dubai World)
บริษัท ลักษณะธุรกิจ ตัวอย่างประเทศที่เข้าไปลงทุน
Dubai Ports World ก่อสร้างและบริหารท่าเรือ สหราชอาณาจักร ตุรกี อินเดีย สาธารณรัฐจิบูตี จีน เวียดนามและเปรู
Inchcape Shipping Services ธุรกิจเดินเรือ บริษัทแม่อยู่ที่สหราชอาณาจักรและมีสำนักงาน 257 แห่งใน 50 ประเทศ
Istithmar ลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย
Istithmar Hotels ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต สหรัฐอเมริกา รวมถึงอีกหลายประเทศ
Jebel Ali Free Zone Authority บริหารจัดการเขตการค้าพิเศษ สาธารณรัฐจิบูตี ในทวีปแอฟริกา (Djibouti Free Zone)
มาเลเซีย (Port Klang Free Zone)
Limitless พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปากีสถาน (20 พันล้านดอลลาร์ฯ)
Nakheel พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยูเออี มีหลายโครงการอาทิ The World และ The Palm 3 แห่งคือ Jumeirah, Jebel Ali, Deira
สาธารณรัฐจิบูตี กำลังก่อสร้างโรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของประเทศ
ที่มา : www.dubaifaqs.com/dubai-world.php

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นสิ่งที่สร้างความตระหนกตกใจแก่ตลาด และทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินของดูไบ ซึ่งเป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุดรัฐหนึ่งของยูเออี และเป็นศูนย์กลางการค้าและธุรกิจที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของตะวันออกกลางแห่งนี้ ต้องถดถอยลง จนทำให้ Moody’s Investors Service ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทของดูไบบางแห่งลงสู่สถานะ Junk ซึ่งหมายถึงสถานะที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าระดับการลงทุน (Investment Grade) ส่วน Standard & Poor’s (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในดูไบบางแห่งลงอยู่เหนือสถานะ Junk เพียงหนึ่งอันดับ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ว่าการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐอาบูดาบี จะทำให้เศรษฐกิจของดูไบสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ดูไบอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนมูลค่ามหาศาลในด้านอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ ผลกระทบยังลามไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตราสารหนี้ของรัฐบาลอื่นๆ ในประเทศข้างเคียง ทำให้ต้นทุนในการค้ำประกันการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ของรัฐบาลในประเทศแถบตะวันออกกลางเพิ่มสูงขึ้น โดยนอกจาก Credit Default Swaps ของตราสารหนี้ของรัฐบาลดูไบ อายุ 5 ปี ได้ปรับเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัว มาอยู่ที่ 688 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน จากระดับปิด 318 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ขณะที่ราคาพันธบัตรของ Nakheel ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 50 เซนต์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน จาก110.5 เซนต์ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้นแล้ว ยังมีผลทำให้ Credit Default Swaps ของรัฐอาบูดาบี ซาอุดิอาระเบีย และกาตาร์ สูงขึ้นเช่นกัน แต่เป็นขนาดที่รุนแรงน้อยกว่า นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังได้สร้างความวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดกระแสผิดนัดชำระหนี้ลุกลามไปสู่ระบบการเงินโลก โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies)
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจดูไบ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เศรษฐกิจดูไบได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้า การเงิน และการท่องเที่ยวของโลก ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยูเออี และทำให้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากต้องชะลอโครงการ ขณะที่ความต้องการในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวลงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในดูไบตกต่ำลงอย่างหนัก โดยบางโครงการราคาได้ลดลงไปกว่าร้อยละ 40 จนทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของดูไบที่เคยเฟื่องฟูตลอดช่วงกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ต้องประสบกับภาวะฟองสบู่แตก และธุรกิจกลุ่มนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องในที่สุด
ปัญหาการเลื่อนชำระหนี้ของ Dubai World อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของดูไบ และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของประเทศยูเออีในระดับหนึ่ง โดยดูไบเป็นรัฐใหญ่อันดับ 2 ทั้งในแง่ขนาดเศรษฐกิจและขนาดจำนวนประชากร ของยูเออี ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรเฉลี่ย 22,643 ดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรป มีประชากรประมาณ 4.56 ล้านคน ประกอบด้วย 7 รัฐ โดยรัฐที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้ามากที่สุด คือ รัฐอาบูดาบี ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงของประเทศ เศรษฐกิจของยูเออี พึ่งพารายได้ที่สำคัญจากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ โดยภาคอุตสาหกรรมพลังงานมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 37.0 ของจีดีพี ขณะที่ภาคบริการก็เริ่มมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ที่มีสัดส่วนร้อยละ 15.9 ของจีดีพี โดยยูเออีมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงอย่างมากในระยะที่ผ่านมา ตามการเติบโตรวดเร็วของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การขนส่ง การเงิน และการบริการอื่นๆ สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศ
ทั้งนี้ ดูไบ เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดของยูเออีและภูมิภาคตะวันออกกลาง รัฐดูไบมีมูลค่าจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 32 ของจีดีพีของทั้งประเทศ นับว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากรัฐอาบูดาบี ที่มีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 57 ของจีดีพี และเศรษฐกิจของทั้งสองรัฐรวมกันมีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม อาบูดาบี เป็นรัฐที่มีทรัพยากรอันมั่งคั่ง และมียุทธศาสตร์การลงทุนที่ค่อนข้างเป็นแบบอนุรักษ์นิยมกว่าดูไบ ความเสี่ยงที่ผลกระทบจากฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ของดูไบจะลุกลามไปกระทบกับเศรษฐกิจทั้งประเทศจึงน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด อย่างไรก็ดี การที่อาบูดาบี เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินที่สำคัญของดูไบ ย่อมจะส่งผลให้สถาบันการเงินของอาบูดาบีได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัญหาทางการเงินของบริษัท Dubai World ในเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของรัฐดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความวิตกเกี่ยวกับ Credit Risk ของนักลงทุนที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง นับจากเกิดวิกฤตการณ์เลห์แมน บราเธอร์ส ความเข้มงวดในการปล่อยกู้สินเชื่อที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้จะยิ่งกดดันให้การลงทุนในดูไบและยูเออี ที่ชะลอตัวจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้ายังคงซบเซาต่อไป นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในรัฐดูไบมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงหลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งสองแห่งลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของดูไบและของยูเออีในที่สุด อย่างไรก็ตาม ท่าทีของรัฐบาลอาบูดาบีในการเข้าช่วยพยุงสถานะทางการเงินของดูไบและการตัดสินในของรัฐบาลดูไบที่จะเพิ่มทุนโดยการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมของยูเออีในอนาคต ขณะที่ธนาคารกลางของยูเออีก็ออกมาระบุว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของสถาบันการเงินในยูเออีได้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย … ผลกระทบโดยตรงน่าจะอยู่ในขอบเขตจำกัด
การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของรัฐดูไบและการแสวงหาตลาดใหม่ในตะวันออกกลางเพื่อชดเชยตลาดตะวันตกที่ยังคงซบเซาอย่างหนักทำให้มีผู้ประกอบการไทยในหลากหลายสาขาเข้าลงทุนดำเนินธุรกิจและส่งออกสินค้าไปยังดูไบเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเลื่อนเวลาการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World ออกไปย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับธุรกิจของดูไบ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทย รวมทั้งต่อเศรษฐกิจไทยนั้นอาจอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากในภาพรวมแล้ว ไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศยูเออีในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก
ในด้านการค้า ยูเออีเป็นตลาดส่งออกอันดับ 17 ของไทย โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าไปยังยูเออีมูลค่า 2004 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.6 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย ขณะที่ในด้านการลงทุน ยูเออีมีการลงทุนในไทยอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของกลุ่มกองทุนที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ขณะที่ธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในดูไบก็มีจำนวนไม่มากเช่นกัน สำหรับในด้านการท่องเที่ยว ยูเออีเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ แต่ยังนับเป็นตลาดที่ยังค่อนข้างเล็ก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 มีนักท่องเที่ยวจากยูเออีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 70,182 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.6 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจไทย มีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้
การลงทุนของดูไบในประเทศไทย ในปัจจุบัน นักลงทุนจากดูไบส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนโดยการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งหากบริษัทผู้ลงทุนจากดูไบเหล่านี้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในประเทศตน ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทของดูไบเหล่านี้อาจจะพิจารณาขายสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ในต่างประเทศ ที่รวมไปถึงการขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทของไทย เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทแม่ ซึ่งอาจจะมีผลต่อมูลค่าหุ้นของบริษัทจดทะเบียนบางราย และอาจมีผลต่อโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ หรืออาจทำให้โครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนามีความคืบหน้าล่าช้าออกไปเนื่องจากต้องหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบคงมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากธุรกิจไทยที่มีบริษัทจากดูไบเข้ามาถือหุ้นหรือร่วมทุนนั้น มีอยู่ไม่กี่ราย ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สินค้าตกแต่งบ้านและอาคาร โรงแรม โรงพยาบาล เหมืองแร่และพลังงาน ขณะที่ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีการปล่อยกู้โครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของดูไบนั้น ถือว่าเป็นมูลค่าสินเชื่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ
การลงทุนของไทยในประเทศดูไบ ที่ผ่านมา การลงทุนของไทยในดูไบส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ รีสอร์ต โรงแรม รวมถึงบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การออกแบบ การตกแต่งและวางระบบภายในอาคาร แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของดูไบหดตัวลง ทั้งจากการเก็งกำไรและการลงทุนจากต่างประเทศที่หดตัวลงอย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายทยอยปรับตัวโดยการเข้าไปเปิดตลาดในรัฐอาบูดาบีและประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ อาทิ กาตาร์ โอมานและบาห์เรน มากขึ้น ดังนั้นในภาพรวมแล้ว ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของดูไบน่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในวงจำกัด
โดยหากพิจารณาเป็นรายธุรกิจจะพบว่า บริษัทก่อสร้างของไทยส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในดูไบในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจไทยที่เข้าไปทำสัญญารับบริหารโรงแรมที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2554 นั้น อาจจะเผชิญกับความล่าช้าออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละกรณีหรือแต่ละราย
ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลบางแห่งที่เคยมีแผนการที่จะเข้าไปลงทุนในดูไบก็ได้ยกเลิกแผนการลงทุนไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจไทยโดยรวมที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าจึงมีค่อนข้างน้อย
ด้านการส่งออก ในระยะสั้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของดูไบอาจจะกดดันให้การบริโภคในรัฐดูไบลดลง แต่อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 80 ที่ส่งออกจากไทยไปยังยูเออีเป็นการส่งออกต่อไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนที่เหลือนั้นจะกระจายไปยังรัฐต่างๆ ของยูเออี โดยเฉพาะรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบีที่มีรายได้ประชากรค่อนข้างสูงและยอมรับสินค้าจากต่างประเทศ แต่หากผลกระทบด้านสภาพคล่องขยายวงกว้างออกไปจนกระทบต่อยูเออี รวมถึงตะวันออกกลางโดยรวม อาจจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้
โดยสรุป จากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนชั้นนำของดูไบประกาศขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไป 6 เดือนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดการเงินโลก เนื่องจากกลุ่ม Dubai World มีหนี้สินมูลค่ารวมทั้งสิ้น 59,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2553 มีมูลค่ารวมประมาณ 5,700 ล้านดอลลาร์ฯ
นอกจากนี้ หากรวบรวมมูลค่าหนี้ของดูไบที่มีกำหนดชำระหนี้ภายในปี 2554 ซึ่งเป็นของกลุ่ม Dubai World และกลุ่ม Dubai Holding รวมกัน จะมีมูลค่าประมาณ 20,600 ล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีความกังวลว่าหากหนี้เหล่านี้ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ อาจจะกลายเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของภาครัฐครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐบาลอาร์เจนตินาผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 95,000 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อปี 2544
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่น่าเป็นห่วงของบริษัทแห่งรัฐของดูไบที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งการที่รัฐมีภาระที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ของบริษัทดังกล่าวอาจกระทบต่อความสามารถของภาครัฐที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจดูไบฟื้นตัวได้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังสร้างความกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลางและในส่วนอื่นของโลกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก Dubai World รวมถึงบริษัทลูกอีกหลายแห่ง มีฐานการลงทุนในเศรษฐกิจนอกภาคการเงินทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คำแถลงล่าสุดของธนาคารกลางของยูเออี ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ทั้งธนาคารพาณิชย์ในประเทศและธนาคารต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในยูเออี ที่อาจถูกกระทบจากการเลื่อนชำระหนี้ของ Dubai World เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกิดความตื่นตระหนก และกระทบต่อฐานะสภาพคล่องและกลไกทางการเงินในยูเออีนั้น ได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกลงได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยจากปัญหาการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World นั้น ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย คงจะมีไม่มากนัก เนื่องจากประเทศยูเออี ทั้ง 7 รัฐรวมกัน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6 ของการส่งออกรวมของไทย อีกทั้งกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยังยูเออี เป็นการส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง ส่วนผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยที่เข้าไปดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น ในหมวดก่อสร้าง โรงแรม และโรงพยาบาล รวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น
จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่า คงจะมีผลกระทบไม่มากนักเช่นกัน โดยเฉพาะหากปัญหาเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์จำกัดวงอยู่ที่ดูไบ และไม่ลุกลามไปถึงรัฐอื่นๆ ในยูเออี เช่น อาบูดาบี และสำหรับในด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากยูเออีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งหมด โดยรวมแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่าไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.1 สำหรับปีนี้ และขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 สำหรับปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชำระหนี้ของธุรกิจดูไบที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา ถึงผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งมีหลากหลายสัญชาติ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของยุโรป นอกจากนี้ยังต้องจับตาว่าภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะลุกลามไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายอื่นๆ อีกหรือไม่
ทั้งนี้ คาดว่าบรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกคงจะติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งทำการประเมินความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ของตนอาจต้องเผชิญ ส่งผลให้คาดว่ารัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง ให้ดำเนินต่อเนื่องไปได้
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น