วันศุกร์, พฤศจิกายน 13, 2552

บาป 10 ประการของผู้นำยอดยี้ !


ผู้นำตามสั่ง Leader A La Carte : รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข  กรุงเทพธุรกิจ 
หลายปีมาแล้วที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินนักข่าวสายการเมืองให้ฉายานักการเมืองหรือรัฐมนตรีบางท่านที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือไม่มีผลงานว่าเป็น "รัฐมนตรียี้" หรือ "ส.ส.ยี้" ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังได้ยินกันอยู่เนืองๆ
ใช่ว่าคำว่า "ยี้" จะถูกใช้ไว้บรรยายสรรพคุณ (หรือสรรพโทษ) เฉพาะของนักการเมืองเท่านั้น ผู้บริหารในวงการธุรกิจก็อาจเป็น "ยี้" หรือถูกลูกน้อง "ยี้!" ใส่ได้เหมือนกันถ้าทำตัวไม่ดี
แต่ก็นั่นแหละค่ะ ผู้นำหรือผู้บริหารหลายท่านก็ไม่ค่อยรู้ตัวหรอกว่าได้ทำอะไรที่ไม่สมควรไปบ้าง เพราะความที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตมีแต่คนเกรงอกเกรงใจ ยกยอปอปั้นจึงอาจทำให้ลืมตัวขาดสติทำในสิ่งที่อย่างเบาะๆ ก็ทำลายขวัญกำลังใจของลูกน้อง และอย่างแย่ก็คือสร้างศัตรูคู่อาฆาตคอยกำจัดท่านโดยที่ท่านอาจไม่รู้ตัว
Cyndi Maxey ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำได้รวบรวมพฤติกรรมหรือบาป 10ประการที่พาผู้นำหรือผู้บริหารติดอันดับ "ผู้นำยอดยี้" ไว้ดังนี้
บาปข้อที่ 1 : ทำให้ลูกน้องอับอายในที่สาธารณะ
อย่านึกว่าจะมีแต่คนไทยหรือชาวเอเชียเท่านั้นที่เรื่องของ "หน้า" เป็นเรื่องสำคัญ ชาวตะวันตกเองก็เห็นเรื่องของการรักษาหน้า (Face - Saving) เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าพวกเราเช่นกัน แม้ว่าวัฒนธรรมชาวตะวันตกจะนิยมการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา ไม่ค่อยเกรงใจผู้อาวุโสมากเท่าชาวเอเชีย
แต่ผลปรากฏว่าเรื่องของ การที่ผู้นำไม่รักษาหน้าลูกน้อง (หรือฉีกหน้า) ได้รับการลงความเห็นว่าเป็นสาเหตุในลำดับต้นๆ ที่ผู้บริหารยอดยี้ชอบทำ
ถ้าท่านเคยชมภาพยนตร์เรื่องไอ้แมงมุม (Spider Man) ตอน คงจะพอจำได้ว่า Peter Parker หรือไอ้แมงมุมสุดหล่อได้แฉโพย Eddie Brock ช่างภาพมือสมัครเล่นที่พยายามแย่งงานไอ้แมงมุมว่าภาพที่ Eddie ถ่ายเป็นภาพตกแต่ง
ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นความจริง แต่ก็ทำให้ Eddie ต้องเสียโอกาสที่จะได้งานและต้องเสียหน้าเป็นอย่างมาก จากนั้น Eddie ก็กลายเป็นมารร้ายคอยแก้แค้นไอ้แมงมุม...
ดังนั้นพึงจำไว้ให้ดีว่า หากคิดจะตำหนิหรือตักเตือนลูกน้อง อย่าได้วีนลูกน้องต่อหน้าคนอื่น ควรเรียกมาคุยโดยลำพัง แต่ถ้าจะชมเขา ให้ชมต่อหน้าคนอื่น
บาปข้อที่ 2 : ไม่สนใจรับฟังและสนับสนุนความคิดของลูกน้องอย่างจริงใจ
อย่างที่ทราบกันดีอยู่ว่าแรงงานในปัจจุบันจะเป็นคนรุ่นใหม่พวก Gen X และ Gen Y ที่ได้รับการศึกษาอบรมให้กล้าแสดงออก กล้าพูดและต้องการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นผู้นำจะต้องจัดสรรทั้งเวลาและเวทีให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่อาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่
นอกจากจะต้องฟังความเห็นของพวกเขาอย่างตั้งใจแล้ว ผู้นำยังจะต้องให้คำวิจารณ์ว่าความคิดของเขาดีหรือบกพร่องอย่างไร พร้อมทั้งนำความคิดที่ดีๆ ของเขาไปต่อยอดทำให้มันเป็นความจริงกลายเป็นโปรเจ็คออกมา
ผลการสำรวจความต้องการของพนักงานรุ่น Gen X และ Gen Y ในทวีปเอเชียที่จัดทำอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขององค์กรต่างๆ เช่น Hewitt Associate Dow Chemical Novartis ฯลฯ บ่งบอกว่า คนรุ่นใหม่รู้สึกกระตือรือร้น และถูกจูงใจได้ด้วยการที่พวกเขาได้ทำงานร่วมกับผู้นำ และองค์กรที่กระตุ้นต่อมความคิดของเขา
พวกเขาไม่ชอบงานที่ต้องรับคำสั่งอย่างเดียว และจะไม่ชอบมากๆ เลยถ้าผู้นำไม่สนใจรับฟังความเห็นของลูกน้อง และยิ่งจะไม่ชอบที่สุดถ้าผู้นำเสแสร้งทำเป็นขอความเห็นพวกเขาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ว่าตนเองเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ที่บริหารแบบให้พนักงานมีส่วนร่วม (Participatory Management) แต่เนื้อแท้เป็นเผด็จการและใจแคบ...อย่านึกว่าลูกน้องรู้ไม่ทันนะ!
บาปข้อที่ 3 : ชมลูกน้องไม่เป็นง่ะ!
ในปี 1998 Gallup ได้ทำการสำรวจความเห็นพนักงานหลายพันคนว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขามองว่าองค์กรที่ทำงานด้วยเป็น "องค์กรชั้นดี"
ผลสำรวจออกมาว่าหนึ่งในปัจจัยยอดนิยมได้แก่ การได้รับ "คำชมเชยจากผู้บังคับบัญชา" เมื่อทราบเช่นนี้แล้วผู้บริหารทั้งหลาย ที่เคยคิดว่า การชมเชยหรือยกย่องลูกน้องจะทำให้พวกเขาเหลิง เลยประหยัดคำชม หรือไม่ชมเลยนั้น ควรเปลี่ยนความคิดบ้าง
พยายามสังเกตสังกาว่าลูกน้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกอย่างไร แม้จะเป็นการพัฒนาเพียงน้อยนิด ก็ควรให้ความเห็นในเชิงบวกเช่น "อือม์ คุณเริ่มต้นงานชิ้นนี้ได้ถูกทางแล้วนะ..." เป็นต้น ทั้งนี้ความเห็นของผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งที่ลูกน้องต้องการมากเพื่อที่จะรู้ว่าเขาทำงานได้ตามที่คาดหวังหรือไม่
แต่ผู้นำบางคนชมไม่เป็น มิหนำซ้ำยังอิจฉาหรือหมั่นไส้ลูกน้องที่ทำท่าว่าจะเก่งเกินหน้าเสียอีก! แบบนี้จะไม่ยี้ยังไงไหว!
นี่เพิ่งคุยถึงบาปข้อที่ เอง ติดตามบาปข้อต่อไปสัปดาห์หน้านะคะ
ดังที่ได้สาธยายไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วถึงบาป ประการแรกที่ทำให้ลูกน้องชังน้ำหน้าผู้บริหารหรือผู้นำเป็นอย่างที่สุด
นั่นคือ การไม่รักษาหน้าหรือฉีกหน้าลูกน้องต่อหน้าธารกำนัล การไม่สนใจรับฟังและสนับสนุนความคิดของลูกน้องอย่างจริงใจ และการไม่รู้จักชมเชยลูกน้องบ้างเลย ซึ่ง 3ประการนี้ถือเป็นเหตุผลท็อปฮิตที่จะทำให้ผู้นำติดอันดับยอดยี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนบาปอีก ประการที่จะทำให้ผู้นำกลายเป็นสุดยี้อย่างสมบูรณ์แบบก็คือ
บาปข้อที่ 4 : เพิกเฉยละเลยความต้องการพัฒนาตนเองของลูกน้อง
ใครมันจะอยากเป็นลูกน้องตลอดชาติพนักงานที่ยังไม่แก่จนกลายเป็นเดดวู้ด (Dead wood) ทุกคนล้วนมีความต้องการที่จะพัฒนาฝีมือ ความสามารถของตนเพื่อที่จะได้เป็นดาวรุ่งหรือ Top Talent ในสายอาชีพของตนกันทั้งนั้น
งานวิจัยเรื่องความพึงพอใจในงานของพนักงานทั่วโลกล้วนบ่งชี้ว่าหากผู้นำละเลยที่จะสร้างโอกาสหรือจัดเส้นทางพัฒนาอาชีพ (Career Development) ให้พนักงานได้ฝึกอบรม ดูงาน หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รับรองว่าพนักงานจะเบื่อเจ้านายที่ใจแคบคิดแต่จะใช้ประโยชน์งานจากลูกน้องถ่ายเดียวโดยไม่คิดให้ความรู้ใหม่ๆ แก่พนักงานแน่ๆ
บาปข้อที่ 5 : วางนโยบาย เป้าหมายหรือกฎระเบียบที่ไม่เป็นจริง
คำว่า "ไม่เป็นจริง" (Unrealistic) นี้ หมายความว่า "เป็นไปไม่ได้" นั่นเอง ตัวท่านผู้อ่านเองก็อาจจะเคยพบผู้นำประเภทที่นึกว่าลูกน้องเป็นพระเอกหนังเรื่อง Mission Impossible เลยชอบวางนโยบายกฎระเบียบที่เคร่งครัด กำหนดเป้าหมายการทำงานที่สูงลิบลิ่วประมาณว่าทำงานทั้งชาติก็คงยากที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ และที่สำคัญคือ สงสัยว่าตัวผู้นำเองจะทำได้หรือเปล่า?
บาปข้อที่ 6 : สื่อสารไม่ชัดเจน อธิบายงานไม่เป็น
ผู้นำหลายคนสื่อสารไม่เป็น เช่น ไม่สามารถระบุมาตรฐานงานที่ต้องการได้ พูดจาคลุมเครือหรือไม่ก็อ้อมค้อม อ้อมไปอ้อมมาเลยทำลูกน้องเตลิดหลงทางเข้าป่า เสร็จแล้วเป็นยังไงทราบไหมคะพองานเสร็จเอาไปส่งเจ้านาย ท่านก็จะบอกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ทำแบบนี้มาส่งได้ยังไงสรุปแล้วลูกน้องก็เลยต้องผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง
บาปข้อที่ 7 : ผู้นำใจหิน
ผู้นำใจหินหรือคนแล้งน้ำใจก็เป็นพฤติกรรมอีกหนึ่งประเภทที่น่ายี้ (อันที่จริงแล้วใครก็ตามที่ไม่มีน้ำใจมันก็น่ายี้ทั้งนั้นนะคะ) ลองนึกภาพลูกน้องที่ป่วยเป็นไข้หวัดตาแดง ไอจนตัวโก่งเดินมาทำงาน พอเจอหน้าลูกน้องเท่านั้นแหละ แทนที่ผู้นำจะถามไถ่สักคำว่า"ไม่สบายเป็นอะไรมากหรือเปล่า ไหวไหม?" แต่ผู้นำกลับไม่สนใจซักถามทุกข์สุขเลย แต่ตั้งหน้าตั้งตาสั่งงานเป็นชุด ประมาณว่าไม่เคยเหลือบสายตาดูเลยว่าลูกน้องมีสีหน้าอย่างไร
หรือถึงแม้เหลือบตาเห็นเขาก็ไม่แคร์... เป็นผู้นำแบบนี้ก็อย่าหวังจะได้ใจจากลูกน้องเลย แล้วก็เวลาผู้นำดวงตกก็อย่าหวังว่าใครจะมาแลก็แล้วกัน
บาปข้อที่ 8 : ข้าพเจ้าเก่งที่ซู้ดอยู่คนเดียว
โดยมากคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำก็มักจะมีความสามารถและฝีไม้ลายมือพอสมควร มิฉะนั้นก็คงไม่ได้เป็นผู้นำ (ยกเว้นประเภทประจบสอพลอเป็นวิชาเอก) แต่ถึงแม้จะเก่งเพียงใด ก็ยากที่จะเป็นสัพพัญญู
บางคนนึกว่าตัวเองฉลาด เก่งและถูกต้องอยู่คนเดียว ไม่ยอมรับฟังความเห็นของลูกน้องเลย ลูกน้องต้องรับบทสนองคำสั่งอย่างเดียว แถมผู้นำบางท่านยังแสบขึ้นไปอีก กล่าวคือ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกน้องคิดถูก ทำถูกและเก่งกว่าตัว แต่ท่านผู้นำก็ไม่เคยยกย่องให้เครดิตว่าเป็นผลงานของลูกน้อง โดยทำการมั่วนิ่มว่าไอเดียของลูกน้องเป็นของตนเองเสียอีกแน่ะ! ยี้! จริงๆ
บาปข้อที่ 9 : ไม่ใส่ใจในลักษณะเฉพาะตนของลูกน้องแต่ละคน
ผู้นำบางคนไม่ใส่ใจในรายละเอียดว่าลูกน้องแต่ละคนมีทัศนคติ มีความชอบและความถนัดที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงใช้วิธีบริหารแบบ "โหลๆ" คือ ปฏิบัติต่อลูกน้องทุกคนเหมือนกันโดยเข้าใจว่าตนเองมีความยุติธรรมเพราะปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน
ซึ่งความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องบริหารพนักงานทุกคนด้วยวิธีการเหมือนกันเสมอไป ผู้นำที่มีจิตวิทยาสูงจะรู้ว่าควรจะพูดโน้มน้าว ควรใช้ท่าทีแบบใดในการบริหารลูกน้องแต่ละคนจึงจะสามารถดึงเอาผลงานที่ดีที่สุดจากพวกเขาได้
บาปข้อที่ 10 : ขอโทษไม่เป็น
ข้อสุดท้ายนี้คลาสสิกจริงๆ เพราะหลังจากที่ผู้นำทำผิดพลาดนานัปการจนลูกน้องร้องยี้อยู่บ่อยๆ แล้ว หนังก็จบลงตรงที่ว่าผู้นำไม่เคยขอโทษสักคำ "ยี้" ได้สมบูรณ์แบบอย่างนี้ ถึงนาทีนั้นน่าจะเหลือแต่ผู้นำคนเดียว เพราะลูกน้องคงขอย้ายสังกัดหนีกันไปหมดเหตุการณ์นี้ฟังดูคุ้นๆ ไหม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น