วันเสาร์, พฤศจิกายน 28, 2552

จะทำอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก (ตอนจบ)

8. ระดมสมอง หาคำตอบให้กับปัญหา

เตรียมกระดาษเปล่า ดินสอหรือปากกามาจดทุกคำพูด
ทุกความคิดที่เกิดขึ้นของลูกและของคุณ


โดยมีเคล็ดลับอยู่ว่า.......................

  • ไม่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ลูกคิด
   ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูไม่เข้าท่านักในความเห็นของคุณ

  • สิ่งที่คุณควรทำก็คือ จดความคิดทุกอย่างลงไปและอาจจะพูดกระตุ้นให้ลูกคิดหาทางออกอื่นๆเพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

(กรุณาควบคุมอารมณ์ของคุณ อย่าพูดเร่งเร้าหรือมีอารมณ์ร่วมในเหตุการณ์มากนัก เพราะอาจจะทำให้ลูกอึดอัดหรือรู้สึกถูกกดดันจนคิดไม่ออก)

 ถ้าลูกคิดไม่ออกแล้ว ก็ถึงตาคุณคิดบ้าง จดความคิดคุณลงในกระดาษแผ่นเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้คุณก็ใส่ความคิดที่คุณเห็นว่าเหมาะสมลงไปเต็มที่เลย (หมอหวังว่ามันคงเป็นความคิดที่เข้าท่ากว่าของลูกนะ)
 อย่างเช่น
.....ทำเฉยไม่สนใจเวลาถูกล้อหรือถูกแหย่โดยทำท่าอ้าปากหาวแล้วเดินหนีไปจากกลุ่มเด็กเกเรแบบสบายๆ
...ไม่อยู่คนเดียวในช่วงพัก ควรมีคู่หูหรือเพื่อนสนิทที่ไว้ใจไปไหนมาไหนด้วย อย่างน้อยถ้าโดนแกล้งก็ยังมีเพื่อนช่วยกันบ้าง
....แสดงออกอย่างมั่นใจและสุภาพกับเด็กที่มารังแกโดยอาจจะมองหน้าสบตาคนที่มารังแกและพูดว่า
"เราไม่ชอบให้นายทำอย่างนี้กับเรา นายหยุดทำได้แล้ว ถ้านายไม่ยอมหยุดล้อเราซะที เราก็มีสิทธ์ที่จะจัดการให้นายหยุด  เพราะนายเริ่มก่อน"
...พยายามคบหาเพื่อนฝูงให้มากเข้าไว้ อย่าอยู่โดดเดี่ยว
โอกาสเป็นเป้าโจมตึจะยากขึ้นถ้าเราเป็นคนที่เพื่อนๆรัก........
เด็กเกเรจะถูกเพื่อนคนอื่นๆไม่ชอบ ไม่พอใจที่มารังแกเรา
ก็ต้องมีคนเข้าข้างเราบ้างหล่ะ........................
...พยายามอยู่ใกล้คุณครูเข้าไว้ เผื่อโดนแกล้ง
อย่างน้อยก็มีครูเห็นเหตุการณ์อยู่  ช่วยไม่ช่วยค่อยว่ากันอีกที 
...ไม่ไปล้อเลียน ทำตัวเป็นหัวโจกรังแกคนอื่นซะเอง........

 
9. เลือกความคิดที่เข้าท่ามาลองทำ

 ลองพูดคุยกับลูกว่าความคิดไหนที่เข้าท่าและพอทำได้จริง ตัดข้อที่ทำไม่ได้ออกไปซะ...ลองเล่นบทบาทสมมุติกับลูก โดยคุณเล่นเป็นเด็กเกเร ส่วนลูกเล่นเป็นตัวเอง                                                                                                    อาจจะเริ่มด้วย.............................................................. 
"เอาล่ะ ลองสมมุติกันดูซิ พ่อเป็น......(เติมชื่อตัวร้ายกันเอาเอง)  ถ้าพ่อเดินเข้ามาหาพร้อมกับตบหัวลูก แล้วก็บอกว่า

"เป็นไง...ไอ้ลูกแหง่ ร้องไห้ไปฟ้องแม่หรือยังที่โดนอัดเมื่อวานเนี๊ย"...
   
 เจอเข้าแบบนี้แล้วลูกจะทำยังไง ลองดูซิ ทำอย่างที่เราคิดกันเมื่อกี้ดีมั๊ย"...

 คุณควรให้กำลังใจลูกในระหว่างที่ลูกกำลังฝึกซ้อมบทบาทการโต้ตอบ
  • เปิดโอกาสให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง
  • คุณควรพูดชมเชยถ้าลูกทำได้พอเข้าท่าเข้าทาง
(อย่าตั้งมาตรฐานไว้สูงตั้งแต่ตอนแรก ไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด
คุณเองก็เช่นเดียวกัน ลูกยังต้องการโอกาสในการฝึกฝนอีกมาก)

คุณอาจให้ความเห็นในสิ่งที่คุณคิดว่าลูกควรแก้ไขได้  แต่อย่าตำหนิ      ล้อเลียนลูกซะเอง เพราะนั่นอาจทำให้ลูกรู้สึกท้อใจและไม่กล้าแสดงออก
ฝึกฝนการแสดงบทบาทสมมุติจนลูกมั่นใจ...


10.ลองสนามจริง

ช่วง1-2 สัปดาห์แรก ควรจะถามไถ่ลูกทุกวันว่าเหตุการณ์ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกโดนล้อหรือโดนรังแกอีกมั๊ย (ถามลูกแบบสบายๆ อย่าใช้น้ำเสียงคาดคั้น)
ลูกทำตามแผนที่ช่วยกันวางไว้ได้หรือไม่
ถ้าพอทำได้ตามแผน ก็ชมเชย ให้กำลังใจลูกให้ทำต่อไป
ถ้ามันยังไม่ work ก็เอามานั่งคุยกัน ลองเล่นบทบาทสมมุติว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ลูกพลาดตรงไหน แล้วก็ช่วยกันคิดหาทางอื่น

 
"ที่สำคัญคุณต้องแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณอยู๋ทีมเดียวกับลูกเสมอ"
"และคุณภูมิใจในตัวลูกที่ได้พยายามถึงแม้ว่ามันยังไม่สำเร็จ "


11. ประสานกับทางโรงเรียน ถ้าปัญหาทุกอย่างมันไม่ดีขึ้น


อย่างน้อยก็ให้คุณครูได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
(แต่ถ้าการแกล้ง รังแกกันนั้นรุนแรงมาก เช่น ถึงกับเลือดตกยางออก มีการทำร้ายร่างกาย
 ทำลายข้าวของเสียหาย ทางโรงเรียนควรจะมีส่วนรับรู้และร่วมมือกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น)

พูดคุยปัญหาก้บคุณครูประจำชั้นและคุณครูผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยกันสอดส่องดูแล
ไม่ให้เกิดการแกล้ง รังแกกันอย่างรุนแรงในโรงเรียน...

โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตใจ
นอกเหนือจากเป็นที่ที่ให้วิชาความรู้


หน้าที่ของพ่อแม่คือช่วยลูกคิด แล้วให้ลูกพยายามจัดการปัญหาเอง..
อย่าเพิ่งยื่นมือเข้าไปจัดการตั้งแต่แรก
เพราะนั่นคือการปิดโอกาสการเรียนรู้ชึวิตของลูก
                                                    
                                                   โปรดอย่าลืมว่า
พ่อแม่ไม่ได้อยู่คำฟ้า

ขอบคุณบทความดีๆ พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น