วันศุกร์, พฤศจิกายน 20, 2552

ผู้นำกับความรัก


รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
ผู้นำนั้นไม่ยากที่จะเป็น ถ้าท่านมีความสามารถที่เพียงพอ แต่การจะเป็นผู้นำที่ดีและผู้นำที่ประสบความสำเร็จนั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่ผู้ที่จะเป็นผู้นำทุกคนสามารถบรรลุได้ แนวคิดและทฤษฎีทางด้านภาวะผู้นำต่างๆ ก็มีออกมาเป็นระยะๆ แต่มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งครับว่าในช่วงหลังทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำของโลกตะวันตกนั้นเริ่มโน้มเอียงมาทางโลกตะวันออกและหลักพระพุทธศาสนามากขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับผู้นำเริ่มเปลี่ยนไป โดยแทนที่ผู้นำจะทำหน้าที่คอยชี้นิ้ว สั่งการผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ผู้นำกลับจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้คอยรับใช้ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้อื่นมากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เริ่มมีแนวคิดในการที่จะผสมผสานเรื่องของความรักเข้ากับเรื่องของภาวะผู้นำ
ผู้นำกับความรักนั้นไม่ใช่เรื่องชีวิตรักของภาวะผู้นำ เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นผู้นำที่ดีและประสบความสำเร็จได้นั้น ควรจะต้องมีและสามารถผสมผสานเรื่องของความรักเข้าไปกับภาวะผู้นำของตนเอง ความรักของผู้นำในที่นี้ครอบคลุมทั้งความรักต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ต่อองค์กร ต่อสังคม หรือ แม้กระทั่งต่อโลกใบนี้ ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าถ้าคนเรามีความรักต่อกันและต่อสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราแล้ว ความคิด ทัศนคติ การแสดงออกในเรื่องต่างๆ ก็จะแตกต่างจากการที่เราเกลียดกันหรือไม่ได้มีความรู้สึกที่รักกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นผู้นำแล้วการมีความรักต่อองค์กร ต่อคนรอบข้างแล้ว รูปแบบและวิธีการในการบริหารก็จะแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ท่านผู้อ่านลองนึกเปรียบเทียบระหว่างผู้นำที่บริหารด้วยความรักกับผู้นำที่บริหารด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีต่อลูกน้องซิครับ ท่านผู้อ่านคงจะนึกภาพออกเลยนะครับ ถึงความแตกต่างระหว่างผู้นำทั้งสองประเภท ทั้งในด้านอารมณ์ ทัศนคติ ความคิด และการแสดงออกที่แตกต่างกันของผู้นำทั้งสองประเภท และในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา เราก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างต่อผู้นำทั้งสองประเภท ซึ่งส่งผลต่อความทุ่มเท ตั้งใจ และมุ่งมั่นในการทำงานที่แตกต่างกันออกไปด้วย ถ้าท่านผู้อ่านนึกไม่ออกนะครับ ลองคิดถึงความรู้สึกตอนที่รู้สึกว่ามีคนรักเราซิครับ นั่นแหละครับคือสิ่งที่ลูกน้องเราจะรู้สึกถ้าเขาพบว่าผู้นำของเขามีความรักต่อเขา
ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าความรักนั้นไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงความรู้สึกระหว่างหนุ่มสาว (หรือเพศเดียวกัน) ในเชิงชู้สาวเท่านั้นนะครับ ความรักนั้นสามารถมีได้หลายรูปแบบมาก และสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้นำกับความรักนั้น ไม่ใช่แค่การที่ผู้นำเอ่ยปากหรือเปล่งวาจาว่าตนเองรักโลก รักประเทศ รักองค์กร รักบุคลากรเท่านั้นนะครับ แต่ต้องขึ้นอยู่กับการแสดงออกด้วยครับ หลายคนเอ่ยปากว่ารักชาติแต่พฤติกรรมที่ปฏิบัตินั้นกลับเป็นไปในการทำลายชาติหรือองค์กรก็เห็นออกบ่อยไป
การที่ผู้นำแสดงออกซึ่งความรักอย่างแท้จริงนั้น นอกเหนือจากจะทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกที่ดีในด้านต่างๆ แล้ว การแสดงออกถึงความรักยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรได้อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการที่บุคลากรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นคือความสามารถของผู้นำในการทำให้บุคลากรเกิดอารมณ์ ความรู้สึก และเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เรามักจะนึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเริ่มจากการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ การเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จส่วนใหญ่เริ่มจากการเข้าถึงอารมณ์ของคนส่วนมาก และความรักที่ผู้นำมีนั้นจะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งเลยครับที่จะเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลในองค์กรของเรา
ผู้นำที่มีความรักนั้นจะปฏิบัติตนต่อบุคคลต่างๆ แตกต่างจากผู้นำที่คิดแบบเดิมที่จะคอยสั่งการลูกน้องเหมือนในอดีต ผู้นำที่มีความรักนั้นจะปฏิบัติต่อทุกๆ คนด้วยดี ให้ความสำคัญและยอมรับต่อความคิด การกระทำและความสำคัญของแต่ละบุคคล ต่อความสำเร็จในภาพรวม ผู้นำประเภทนี้จะเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ มีความมุ่งมั่น แต่ขณะเดียวกันก็เคารพต่อความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละบุคคล ผู้นำที่มีความรักเป็นพื้นฐานนั้นจะมีความจริงใจ มีหลักการ กล้า เปิดเผย ยอมรับต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และในบางครั้งก็เปิดเผยด้านที่อ่อนแอของตนเองให้ผู้อื่นได้เห็น ผู้นำเหล่านี้ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและก็ยอมรับในความบกพร่องของตนเอง แต่ก็พร้อมและยอมที่จะทำงานหรือรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด หรือไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้นำที่มีความรักก็คือคนเหล่านี้พร้อมและต้องการที่จะเป็นผู้ให้ตลอดเวลาครับ เหมือนกับพวกคำกล่าวของนิยามรักทั้งหลายที่บอกว่า “ความรักคือการให้” ดังนั้นผู้นำที่เต็มไปด้วยความรัก คือผู้นำที่พร้อมที่จะให้สำหรับทั้งองค์กร ทั้งบุคลากร ทั้งลูกค้า และทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ดังนั้น ท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆ ตัวท่านดูนะครับว่าผู้นำและอดีตผู้นำ ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย ไม่ว่าระดับองค์กรหรือประเทศนั้นเป็นผู้นำที่ประกอบไปด้วยความรักและพร้อมจะ “ให้” หรือยัง หรือยังเป็นผู้นำแบบโบราณอยู่คือคิดถึงประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องเป็นหลัก โดยไม่ประกอบไปด้วยความรักเลย ไม่ว่าความรักต่อชาติ ต่อองค์กร หรือ ต่อบุคลากรที่ตนเองรับผิดชอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น