วันอังคาร, พฤศจิกายน 17, 2552

มองเพื่อนร่วมงานอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราคิด


ประภาส ทองสุข กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
Dr. John C. Maxwell เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ในฐานะผู้รู้ หรือกูรูมือหนึ่งด้านการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำ ในหนังสือ หรือ CD การบรรยายของเขาจะใช้คำว่า One of the world’s most Authoritative in leadership training
ผมมีข้อมูลคือ VCD การ บรรยายของเขาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2548 ในหัวข้อ How to be a REAL successและอีกครั้งผมมีโอกาสได้ไปฟังด้วยตนเอง คือวันที่ 17 มิถุนายน ปีที่แล้ว
VCD นี้ผมจำได้ว่าซื้อมาจากงานมหกรรมหนังสือเมื่อสัก 3-4 ปีที่แล้วที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซื้อแล้วดูไปครั้งหนึ่งแล้วก็ลืมไปเลย จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งหาวิธีแปลง file เป็น mp4 และ download ใส่ ipod เลยมีโอกาสได้นำกลับมาฟังอย่างตั้งใจอีกครั้ง
การบรรยายวันนั้นเขาพูดหลายเรื่อง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องความสัมพันธ์ในการทำงานของตัวเรากับผู้อื่น เขาย้ำกับผู้ฟังประโยคหนึ่ง โดยบอกว่า We see people not as they are, we see people as we are
ซึ่งเขาได้อธิบายความเพิ่มเติมว่า We have a tendency to look at other people and judge them based upon us and who we are
แล้วยกตัวอย่างว่า หากเราเป็นคนใจดี มีน้ำใจ เราก็จะมองผู้อื่นเป็นแบบนั้น แต่หากเราเป็นคนขี้หวาดระแวง ไม่ค่อยเชื่อถือใคร หรือมีความคิดในทางลบ เราก็จะมองเห็นผู้อื่นเป็นแบบนั้นด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริง เขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลย
John C. Maxwell บอกว่า การที่เรามองใครและตัดสินเขาตามแบบของเรา ไม่ใช่แบบที่เขาเป็น คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ และบางครั้งทำให้เราไม่สามารถเข้ากับคนบางคนหรือหลาย ๆ คนได้
จริงหรือไม่ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ผมอยากให้ท่านลองถามตัวเอง ผมไม่ได้ต้องการให้ท่านเชื่อในสิ่งที่เขาพูดทั้งหมด แต่อยากชวนให้ลองคิดกลับไป กลับมา ในเรื่องของความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมงาน
หากความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมงานยังดีต่อกัน รักใคร่สามัคคี หรือมีความเข้าใจซึ่งกันและกันคงไม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้มากนัก
แต่กรณีที่ความสัมพันธ์มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง หรือจะเป็นกับเพื่อนร่วมงานต่างฝ่ายต่างแผนก คงจะเป็นการดีหากเราจะลองหันมาทบทวนมุมมองของเราที่มีต่อผู้อื่น เพราะปัญหาความสัมพันธ์สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน ซึ่งบางครั้งอาจบานปลาย และยกระดับความรุนแรงไปเป็นปัญหาต่อการขับเคลื่อนองค์กรหรือธุรกิจได้
ผมเคยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องนี้กับเพื่อนสนิท ซึ่งทำงานอยู่ในหลากหลายองค์กร บางคนไม่เห็นด้วย และเชื่อมั่นว่าถ้ามีความคิดที่ดี มีความตั้งใจที่จะทำในสิ่งดี ๆ เพื่อองค์กร ทำไมจึงยังปัญหากับเพื่อนร่วมงานบางคน เขาเชื่อว่าแม้แต่คนที่มีปัญหากัน เขาก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้คิดในทางลบ หรืออยากจะมีปัญหากับคนคนนั้นเลย
John C. Maxwell อธิบายเรื่องนี้ แม้ไม่ใช่คำตอบแบบตรงไปตรงมา แต่ก็พอที่จะนำไปคิดและทำความเข้าใจกับตนเอง เขาบอกว่าบางคนอาจมีปัญหาบางอย่างอยู่ข้างในโดยไม่รู้ตัว วิธีที่จะรู้ว่าเรามีปัญหาหรือไม่ คือดูว่าเรามีปัญหากับทุกคนหรือเปล่า ถ้าใช่ แสดงเราคือตัวปัญหา ไม่ใช่คนอื่น 
เขาบอกให้เรานำไปคิดต่ออีกว่า if it is not right inside of me, it will never turn out right outside of me
และมันคือเหตุผล เวลาสอนเรื่องความสัมพันธ์ เขาจึงบอกว่า The first person you want to look at is not other people, you want to look at yourself
ผมเชื่อว่าเขาคงหมายถึงการมองให้ลึกเข้าไปถึงความคิดที่อยู่ข้างในของเราจริง ๆ เพราะในทางจิตวิทยามีน้อยคนนัก ที่รู้และกล้ายอมรับว่าบางครั้ง ตัวเราเองก็มีปัญหาบางอย่างซ้อนเร้นอยู่ในจิตใจ บางคนหนักว่านั้น ไม่รู้และไม่ยอมรับอะไรทั้งนั้น
เรื่องการมองลึก เพื่อทำความเข้าใจกับตนเองนั้น เพื่อนของผมคนหนึ่งให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมและสารภาพว่า เขามีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะความชอบคิด "เอาเอง" ที่ตัวเขามีต่อเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะความคิดว่าเพื่อนร่วมงานกำลังคิดไม่ดีกับเขา ทำให้บางครั้งเขาจึงเปิดเกมรุก โต้ตอบ สร้างเกราะป้องกันตัว โดยเพื่อนร่วมงานคนนั้นอาจจะไม่มีความคิดแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย
แต่ที่เขาสามารถเรียนรู้ และเข้าใจเรื่องนี้เพราะวันหนึ่งเกิดขบวนการปรับความเข้าใจ ด้วยมีการสื่อสารระหว่างกันจึงได้รู้ว่าสิ่งที่เขาคิดและตัดสินหรือแม้แต่การปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานมาโดยตลอดนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่เขา "คิดเอาเอง" เกือบทั้งสิ้น
ผมเชื่อว่าปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเราและเพื่อนร่วมงานนั้น อาจมีปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป เพราะในแต่ละองค์กร มีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ทุกองค์กรมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ มีความหลากหลายผู้คน ที่มีพื้นฐานความคิด และที่มาที่ไป ที่อาจเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง มาทำงานอยู่ร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง คู่ขนานไปกับทิศทางและเป้าหมายขององค์กร
เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาความสัมพันธ์ที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน และอยากเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้น ลองนำข้อคิดของ Dr. John C. Maxwell ที่ให้เรามองย้อนกลับมาสำรวจความคิดของเราที่มีต่อผู้อื่น ว่าเรากำลังมองเขาอย่างที่ "เขาเป็น" จริง ๆ หรือ มองเขาอย่างที่เราเป็นหรือจะลองถามตัวเองว่า เรากำลัง "คิดเอาเอง" กับเพื่อนร่วมงานอยู่หรือเปล่า และ ลองเปลี่ยนการ "คิดเอาเอง" ให้เป็นการ "คิดให้ตรง" หรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่เพื่อนร่วมงานของเราเป็น ด้วยการสื่อสาร และหาโอกาสทำความเข้าใจกัน
และคงเห็นด้วยกับผม ว่าควรคิดปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเรา มากกว่าที่จะไปแก้ไขปัญหาด้วยการหวังที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้อื่น
หลักการของท่านมหาตมะ คานธี มหาบุรุษที่คนทั้งโลกรู้จักและให้ความเคารพ เคยกล่าวไว้ว่า For Things to change, first I must changeเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราก่อน ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น