วันศุกร์, พฤศจิกายน 20, 2552

เปิดเสรีข้าวภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ผลกระทบต่อชาวนาไทย


ความตกลงการเปิดเสรีตามพันธกรณีเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)
ไทยจะต้องเปิดเสรีตามพันธกรณีเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)ในสินค้าเกษตร 23 ชนิด ที่จะมีผลนับแต่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าอ่อนไหวที่แต่ละประเทศสมาชิกสงวนการลดภาษีเหลือเพียงร้อยละ 5 ประกอบด้วย กาแฟ มะพร้าวแห้ง ไม้ตัดดอก มันฝรั่ง ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และถั่วเหลือง ต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 นั้น  คงต้องเฝ้าติดตามในส่วนของข้าว ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกมาตั้งแต่ปี 2524 ภายใต้การยอมรับในคุณภาพข้าวไทยที่ดีกว่าผลผลิตข้าวในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
การผลิตและการค้าข้าวของไทย
ไทยนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ภายใต้ผลผลิตโดยรวมทั้งประเทศฤดูการผลิตปี 2551/52 ประมาณ 31.650 ล้านตันข้าวเปลือก สร้างรายได้ให้ชาวนาประมาณ 4.15 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยผลผลิตข้าวสัดส่วนร้อยละ 47 ของผลผลิตทั้งหมดจะส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ และเป็นการบริโภคในประเทศสัดส่วนร้อยละ 53  ภายใต้ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของข้าวคุณภาพปานกลางและต่ำคือ เวียดนาม จีน ปากีสถาน และพม่า ดังนั้นการเปิดเสรีข้าวภายใต้ข้อตกลง AFTA ที่อัตราภาษีร้อยละ 0 จึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชาวนา ที่ปัจจุบันยังขาดความพร้อมในการเตรียมรับกับผลกระทบ อันเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐคงต้องเร่งศึกษาและหาแนวทางลดผลกระทบที่จะเกิดต่อชาวนาไทยอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทั้งวงจรการผลิตและการค้าข้าวให้ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีเป็นสำคัญ
ตารางแสดงผลผลิตข้าวของไทย 
                                                                                                  หน่วย : ล้านตันข้าวเปลือก
รายการ
2545/46
2546/47
2547/48
2548/49
2549/50
2550/51
2551/52
2552/53 (คาดการณ์)
+/- (%)
ผลผลิตรวม
27.992
29.474
28.538
30.292
29.642
32.099
31.650

-1.40
นาปี
21.566
23.142
22.650
23.539
22.840
23.308
23.235
23.512
1.19
นาปรัง
6.426
6.332
5.888
6.753
6.802
8.791
8.415

-4.28

ความร่วมมือการผลิตและการค้าข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจัยความมั่นคงทางด้านอาหารกำลังเป็นแรงผลักดันให้ประเทศที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ทำการเกษตรแสวงหาพื้นที่ร่วมลงทุนในการเพาะปลูก โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง สนใจเข้ามาลงทุนปลูกข้าวในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อันทำให้ประเทศดังกล่าวมีผลผลิตข้าวมากขึ้น แม้กระทั่งพม่าที่มีข้อจำกัดทางการเมืองต่อการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างชาติต่างมีการพัฒนาการเพาะปลูกข้าว โดยในปี 2553/54 จะเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวคุณภาพดีควบคู่กับการตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การร่วมทุนจัดตั้งบริษัทคาวิฟูดส์(บจ.แคมโบเดีย-เวียดนามฟูดส์ : Cambodia-Vietnam Foods) ภายใต้การดูแลด้านการผลิต การจัดซื้อ การขนส่ง การเก็บรักษา ตลอดจนการนำเข้าและส่งออกข้าวระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา นับเป็นการวางยุทธศาสตร์การค้าและการผลิตข้าวที่สำคัญที่อาจส่งผลต่อการค้าข้าวไทย ทั้งการมีผลผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก และการไหลเข้าของข้าวเพื่อนบ้านสู่ไทยจากการเปิดเสรีข้าว
ประเด็นปัญหาที่อาจส่งผลต่อข้าวไทย
การเปิดเสรีสินค้าภายใต้กรอบเสรีการค้าอาเซียน(AFTA)ที่จะส่งผลให้กลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน จะต้องปรับลดภาษีเหลือร้อยละ 0 – 5 ในปี 2553 ยกเว้น พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะล่าช้าออกไป ในภาวะที่กลุ่มเกษตรกรไทยยังขาดความพร้อมต่อการรองรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิกัมพูชาและเวียดนามมีการร่วมกันจัดตั้งบริษัทค้าข้าว เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ล่าสุดเสนอลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือร้อยละ 5 ให้ไทย ภายใต้โควตา 50,000 ตัน เพื่อชดเชยกรณีฟิลิปปินส์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงการลดภาษีภายใต้ AFTA ได้  อินโดนีเซีย จะลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือร้อยละ 25 ในปี 2558 และน้ำตาลจากร้อยละ 30 – 40 เป็นร้อยละ 5 – 10 ในปี 2558 และมาเลเซียจะลดภาษีข้าวจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2553 สะท้อนถึงความไม่พร้อมต่อการเปิดเสรีระหว่างกันในกลุ่มอาเซียน
ตารางเปรียบเทียบผลผลิตข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน
(ประมาณการสิงหาคม 2552)
หน่วย : ล้านตันข้าวสาร
ประเทศ
ปี 2547/48
ปี 2548/49
ปี 2549/50
ปี 2550/51
ปี 2551/52
ปี 2552/53
พม่า
9.57
10.44
10.60
10.73
10.15
10.73
กัมพูชา
2.63
3.77
3.95
4.24
4.52
4.63
จีน
125.36
126.41
127.20
129.85
134.33
135.10
อินโดนีเซีย
34.83
34.96
35.30
37.00
38.30
37.60
ฟลิปปินส์
9.43
9.82
9.78
10.48
10.75
10.71
เวียดนาม
22.72
22.77
22.92
24.38
23.71
23.80
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร/ฉบับ ก.ย.52
ภาวะดังกล่าวการที่ไทยจะต้องลดภาษีข้าวเหลือร้อยละ 0 ใน 1 มกราคม 2553 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ยังให้ความสำคัญต่อเกษตรกรของตน อาจกลายเป็นปัจจัยผลักดันต่อการไหลเข้าของข้าวเพื่อนบ้านสู่ไทยในปริมาณที่มากขึ้น โดยเฉพาะในข้าวคุณภาพต่ำ ซึ่งมีการเพาะปลูกที่ขยายตัวมากขึ้นตามการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติ และการมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าชาวนาไทย อันจะเป็นแรงจูงใจต่อการลักลอบนำเข้าข้าวจากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิข้าวไทย และจะกลายเป็นผลกระทบต่อทิศทางราคาข้าวของชาวนาไทยที่จะไม่เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง ท้ายสุดจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคาข้าวที่จะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นอกเหนือจากการลดความน่าเชื่อถือในคุณภาพข้าวไทยจากปัญหาการปลอมปนข้าวแล้วส่งออกในนามข้าวไทย ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยประสบปัญหาด้านคุณภาพข้าวที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มข้าวคุณภาพปานกลาง ที่สำคัญหากข้าวที่นำมาปลอมปนเป็นข้าวตัดแต่งพันธุ์กรรม(จีเอ็มโอ) ในมุมมองของตลาดต่างประเทศจะกลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์ในคุณภาพของข้าวไทยทั้งระบบ ที่อาจประสบปัญหาการตรวจสอบจากประเทศนำเข้าและเป็นภาระของการเพิ่มขึ้นในด้านต้นทุน
ประเด็นปัญหาที่อาจส่งผลต่อชาวนาไทย 
ผลกระทบที่จะเกิดต่อชาวนาไทยคงเป็นทิศทางราคาข้าวในประเทศจะตกต่ำตามการไหลเข้าของข้าวเพื่อนบ้าน แม้ภาครัฐจะออกมาตรการจำกัดการนำเข้าได้เพียงเฉพาะข้าวสาร โดยห้ามนำเข้าข้าวเปลือก ต้นข้าว และพันธุ์ข้าว พร้อมกับจำกัดช่องทางการนำเข้าและระยะเวลาการนำเข้า แต่จากผลผลิตข้าวของเพื่อนบ้านปัจจุบันมีการพัฒนาและขยายตัวมากขึ้นตามทิศทางการลงทุนด้านการเกษตรจากกลุ่มทุนต่างชาติ นับเป็นโอกาสต่อการแข่งขันทางการค้ากับข้าวคุณภาพเดียวกับไทยที่จะออกสู่ตลาดโลก ซึ่งจะเป็นผลกระทบทางอ้อมต่อการสูญเสียการแข่งขันและจะทำให้ทิศทางราคาข้าวในประเทศตกต่ำ
ภาวะที่ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากต้นทุนการผลิตที่แท้จริง อาทิ ค่ากำจัดวัชพืช ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างแรงงาน และค่าเช่าที่ดินทำนา ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลผลิตต่อไร่ จนกลายเป็นภาระหนี้สินของชาวนาที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน เมื่อประกอบกับการเปิดเสรีข้าวที่จะเริ่มในปี 2553 ยังไม่มีความพร้อมต่อการรองรับผลกระทบของกลุ่มชาวนาเอง ท่าทีการเคลื่อนไหวของชาวนาจึงยังไม่ชัดเจน แต่หลังจากการเปิดเสรีแล้วทิศทางราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ตกต่ำ ทั้งการถูกเอาเปรียบจากผู้ค้าข้าวหรือการตกต่ำของราคาข้าวตามกลไกตลาด ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียกร้องของชาวนาต่อการดำเนินงานของภาครัฐที่ขาดความรอบคอบ
ต้ทุนการผลิตข้าวของชาวนา
เปรียบเทียบปี 2549/50 – 2551/52
                                                                                                หน่วย :บาท/ตัน
รายการ
ปี 2549/50
ปี 2550/51
ปี 2551/52
ข้าวนาปี
5,905
5,985
8,471
ข้าวนาปรัง
5,074
6,696
6,794
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
 ท่าทีต่อการเปิดเสรีข้าวของภาครัฐและกลุ่มเกี่ยวข้อง
มาตรการช่วยเหลือชาวนาของภาครัฐที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญต่อราคาข้าวมากกว่าการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อสร้างจุดแข็งให้แก่ข้าวไทย แม้จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของชาวนาจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้ แต่กลับเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพราคาข้าว และการระบายสต็อกข้าวของภาครัฐ ทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาขยายพื้นที่เพาะปลูกเพียงเพื่อนำผลผลิตเข้าสู่โครงการรัฐ มากกว่าการให้ความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมกับการเปิดเสรีข้าว นอกจากนี้ยังอาจถูกเชื่อมโยงให้เป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลต่อการดำเนินงานที่ล่าช้าและขาดความรอบคอบจนสร้างความเสียหายต่อชาวนาไทย
มาตรการรองรับการเปิดตลาดข้าวยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ โดยเบื้องต้นกำหนดมาตรการดูแลการนำเข้าด้วยการกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า ชนิดข้าวที่นำเข้า แนวทางการนำเข้า และพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมจากข้าวนำเข้า เพื่อนำเงินที่ได้มาจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาชาวนาไทย  ซึ่งยังเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างการกำหนดการนำเข้าและการยังไม่พร้อมต่อการเปิดเสรี โดยแนวทางที่จะนำมาใช้จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้นำเข้าได้เฉพาะปลายข้าวที่ผ่านการตรวจสอบสารตกค้าง สารปนเปื้อน ปลอดศัตรูพืช และปราศจากจีเอ็มโอ. ขณะที่ทางโรงสีมองว่าการเปิดเสรีต้องเป็นแบบเปิดเสรีจริง ไม่กำหนดให้นำเข้าแค่บางอุตสาหกรรม เพราะจะเกิดประโยชน์เพียงเฉพาะกลุ่ม เช่น เบียร์ แป้ง และอาหารสัตว์ ขณะที่คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้พิจารณาชะลอการลดภาษีนำเข้าข้าวร้อยละ 0 ออกไปก่อน
ข้อเสนอแนะ
การบริหารจัดการในวงจรการผลิตและการค้าข้าวอย่างเป็นระบบภายใต้การรักษาตลาดและคุณภาพข้าวไทยมิให้เกิดการสวมรอยขายในตลาดต่างประเทศ อันจะทำให้การค้าข้าวไทยภายใต้การเปิดเสรีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก พร้อมเฝ้าระวังการนำข้าวเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิข้าวไทย ทั้งเป้าหมายเพื่อการส่งออกในนามข้าวไทย และการเข้าปะปนกับข้าวไทยเพื่อหวังผลประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ดังนั้นการกำกับดูแลการนำเข้าต้องเป็นไปอย่างเข้มงวดและโปร่งใส โดยเฉพาะการตรวจสอบการนำเข้าภายหลังการเปิดเสรีต้องมีความเข้มงวดและจริงจัง
การจัดการด้านต้นทุนการผลิตที่ลดลง ภายใต้การเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่ พร้อมกับการควบคุมคุณภาพผลผลิตข้าวให้มีจุดเด่นเฉพาะตัวตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อรักษาตลาดข้าวไทยควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้ชาวนาอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชาวนาไทย โดยหน่วยงานรัฐด้านเกษตรคงต้องศึกษาพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อตอบสนองกับตลาด และควบคุมการเพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด
เสริมสร้างศักยภาพในการรวมตัวของชาวนาอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในกลไกการค้ากับกลุ่มผู้ค้าข้าว ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวคงต้องให้ความสำคัญต่อการค้าข้าวไทยที่ปราศจากการแสวงประโยชน์ส่วนตน และดำเนินกลไกการค้าข้าวที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวนาเป็นสำคัญ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น