วันศุกร์, พฤศจิกายน 20, 2552

ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงในสังคมไทย


คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร มติชนรายวัน วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่11575
ข้อมูลสถิติที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนจนและกลุ่มคนรวยสุดนั้น
พอจะเป็นที่รับทราบกันในขณะนี้ว่ามีความต่างกันถึงประมาณ 13 เท่า ความต่างด้านรายได้บ่งบอกว่าคนรวยและคนจนมีมาตรฐานการครองชีพต่างกันอย่างไร แต่ถ้าจะดูความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงแล้ว จะต้องดูที่ความมั่งคั่ง (wealth)หรือการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ได้แก่ ที่ดิน เงินออม หุ้น ทอง เพชรนิลจินดา ของเก่ามีค่า เช่น พระเครื่อง เครื่องลายคราม และภาพเขียนราคาแพง ฯลฯ
ในประเทศพัฒนาแล้วนั้น จะมีการเก็บข้อมูลสถิติด้านความมั่งคั่งของคนในประเทศอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์สำหรับการมีนโยบายสาธารณะด้านภาษีที่เหมาะสม ทั้งนี้ การเก็บภาษีมีหลักการอยู่ที่การจ่ายตามความมั่งคั่งด้วย และเพื่อสามารถที่จะใช้นโยบายภาษีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นภัยกับสังคม และป้องกันไม่ให้มีการสะสมทรัพย์สินเอาไว้เก็งกำไรแบบเสือนอนกิน เพราะว่าถ้าสามารถทำได้เช่นนั้นทรัพย์สินมีค่า เช่น ที่ดิน ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และเป็นที่ต้องการของนักอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโรงงาน และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปเพื่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย ก็จะมีราคาแพงจนเกินเหตุ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และทำให้คนธรรมดาทั่วๆ ไปที่หาเช้ากินค่ำโชคไม่ดีที่ไม่มีมรดก ไม่อาจหาซื้อบ้านที่อยู่อาศัยในราคาที่จะซื้อหาได้จากการทำงานจากหยาดเหงื่อของตนเองได้ และค่าเช่าบ้านดีๆ ก็จะแพงจนเกินเหตุอีกเช่นกัน
การเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งภาษีมรดกก็เป็นภาษีทรัพย์สินประเภทหนึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสถานหนึ่งแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และเร่งให้มีการใช้ทรัพย์สินให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคค่อนข้างสูงนั้น ภาษีทรัพย์สินจากการรับมรดกที่มีมูลค่าสูงมากๆ (ส่วนใหญ่ก็คือที่ดินและคฤหาสน์ราคาแพง) มีอัตราที่ค่อนข้างสูง เพื่อผลักดันให้ผู้รับมรดกเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปสร้างมูลค่าเพิ่ม (เอาไปลงทุนต่างๆ) จะได้มีรายได้มาเสียภาษี และหากว่าผู้รับมรดกนั้นๆไม่ทำอะไรเลยติดต่อกัน ชั่วอายุคน ก็จะต้องขายที่ดินนั้นไปเพื่อเอามาเสียภาษี เมื่อต้องขายก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาซื้อเอาไปทำประโยชน์ได้ เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ เช่น เอาไปสร้างโรงงาน ทำโรงแรม ก่อให้เกิดการสร้างงานและเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ ภาษีมรดกนี้ใช้กับทุกคนไม่มีข้อยกเว้น
ผู้เขียนได้เคยอ่านบทความเกี่ยวกับจักรพรรดินีญี่ปุ่นองค์ปัจจุบัน แม้ว่าพระองค์จะเคยทรงเป็นสามัญชน แต่ก็ทรงมาจากครอบครัวร่ำรวยทีเดียว พระองค์ทรงได้รับมรดกจากครอบครัวเป็นคฤหาสน์ประจำตระกูลที่ใหญ่โตมาก และหากจะทรงรักษาคฤหาสน์นี้ไว้ในครอบครอง พระองค์จะต้องทรงจ่ายภาษีมรดกจำนวนมหาศาล ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้มีการอภิปรายกันที่ญี่ปุ่นในเรื่องนี้ และมีการเสนอให้รัฐบาลยกเว้นภาษีมรดกกับองค์พระจักรพรรดินี แต่ทรงแสดงพระสปิริตโดยทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้และทรงประกาศที่จะจ่ายภาษีมรดกเฉกเช่น พลเมืองคนอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงต้องยอมขายคฤหาสน์ของตระกูลนี้ไป เพื่อที่จะจ่ายภาษีมรดกดังกล่าว
ภาษีทรัพย์สินในรูปของภาษีมรดกที่ญี่ปุ่นนับว่าเป็นมาตรการทางการคลังที่สำคัญประการหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สำหรับในเมืองไทยนั้นเรายังไม่ได้ให้ความสนใจกับการใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น ข้อมูลสถิติที่มีอยู่จึงบ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่สูง และสูงกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากที่เดียว ดังจะแสดงให้เห็นในข้อมูลข้างล่างนี้
ที่ดิน ข้อมูลการถือครองที่ดินนำร่องใน จังหวัด ทำให้ได้ภาพของขนาดการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินโดยละเอียด พบว่าผู้ถือครองพื้นที่รวมมากที่สุด 50 อันดับแรก (ทั้งปัจเจกและนิติบุคคล) มีที่ดินรวมกันโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 10 ของทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงมาก ถ้าหากดูจำนวนที่ดินที่ถือครองโดยเจ้าของรายใหญ่ที่สุดในบางจังหวัดก็จะพบ เช่น ที่ปทุมธานี รายใหญ่ที่สุดมีที่ดินรวมกัน 28,000 ไร่ ที่สมุทรปราการ 17,000 ไร่ ที่นครนายก 34,000 ไร่ นับเป็นที่ดินจำนวนมหาศาล แต่ขณะนี้อัตราภาษีบำรุงท้องที่ ยังมีลักษณะถดถอย คือคนมีที่ดินมากเสียภาษีเป็นสัดส่วนของมูลค่าที่ดินต่ำกว่าคนมีที่ดินน้อย
เงินออมในธนาคาร สถิติโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 บอกเราว่า บัญชีที่มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 70,000 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของจำนวนบัญชีทั้งหมดในประเทศและเจ้าของบัญชี 70,000 บัญชีนี้มีเงินฝากรวมกัน ล้านล้านบาท (เท่ากับ 1/3 ของ GDP ของประเทศไทยในปี 2551)คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินฝากทั้งประเทศ โดยปกติคน คนหนึ่งจะมีมากกว่า บัญชี สมมุติว่าโดยเฉลี่ยมีคนละ 2บัญชีจะได้ว่า ร้อยละ 42 ของเงินฝากทั้งประเทศอยู่ในมือของคนเพียง 35,000 คน หรืออาจจะน้อยกว่านี้ ถ้าหลายคนมีมากกว่า บัญชี
การที่เงินฝากกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ เช่นนี้มีนัยถึงการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงมากด้วย เพราะว่าคนมีเงินออมมากๆ ก็มีโอกาสที่จะลงทุนและมีรายได้สูงกว่าคนมีเงินออมน้อย แต่ขณะนี้รัฐบาลเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ย (หัก ณ ที่จ่าย) เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ที่ TDRI ท่านหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า อัตรานี้ต่ำเกินไปสำหรับผู้มีเงินออมมากๆ รัฐบาลน่าจะเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราที่สูงกว่านี้
หุ้นในตลาดหลักทรัพย์งานศึกษาของเนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (กลุ่มทุน-ธุรกิจครอบครัวไทยก่อนและหลังวิกฤติ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว.) พบว่าระหว่างปี 2538 ถึงปี 2547 มีเพียง 11 ตระกูลผลัดกันเป็นเจ้าของหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด อันดับแรก ได้แก่ตระกูลมาลีนนท์ ชินวัตร ดามาพงศ์ จิราธวัฒน์ เบญจรงค์กุล ดำรงชัยธรรม อัศวโภคิน เลี่ยวไพรัตน์ โพธารามิก กรรณสูต และจรณจิตต์ และรายได้จากการซื้อขายหุ้น มีการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเลย (ไม่มี capital gain tax) ขณะที่คนทำงาน (salary man และ wage-earner) ทั่วๆ ไป ต้องเสียภาษีในอัตราระหว่างร้อยละ ถึงร้อยละ 37
สำหรับในภาพรวมของความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งนั้นงานศึกษาโดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สอบถามการมีทรัพย์สินประเภทต่างๆ ของครัวเรือนไทยจากครัวเรือนตัวอย่างเมื่อปี 2549 พบว่าครัวเรือนมั่งคั่งที่สุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าครัวเรือนจนสุดร้อยละ 20 อยู่ถึงประมาณ 70 เท่า (กลุ่มครัวเรือนรวยสุดมีทรัพย์สินร้อยละ 69 ของทั้งหมด ขณะที่กลุ่มครัวเรือนจนสุดมีสัดส่วนของทรัพย์สินเพียงร้อยละ 1ของทั้งหมด) หมายความว่าความมั่งคั่งต่างกัน 70 เท่า แต่ตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ในความเป็นจริงความต่างอาจจะสูงถึง 80 เท่า เพราะว่าคนรวยมักจะไม่บอกว่าตัวเองรวยจริงๆ เท่าไร และเจ้าพนักงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คงไม่มีโอกาสได้สอบถามข้อมูลจากครัวเรือนรวยจริงๆ เพราะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย และมักจะไม่ตกอยู่ในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ
โดยสรุปข้อมูลสถิติขั้นต้นนี้ บอกให้เห็นว่าความมั่งคั่งของสังคมเรากระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว โดยอาจจะกระจุกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่ตระกูล เพราะว่าต่างโยงใยกันอยู่ โดยลูกหลานจะดองกัน เข้าทำนองคำพังเพย "เรือล่มในหนองทองจะไปไหนเสีย"
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เมืองไทยจะต้องมีมาตรการภาษีทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและผลักดันให้มีการใช้ทรัพย์สินทุกประเภทเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น