วันศุกร์, พฤศจิกายน 20, 2552

เมื่อเห็นไม่ตรงกัน


คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร  โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3909 (3109)
ถ้าเราลองนึกย้อนดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่วุ่นวายขัดแย้งกันทั้งในระดับครอบครัว ระดับองค์กร หรือระดับประเทศก็ตาม ค่อยๆ ครุ่นคิดพิจารณาอย่างละเอียดถึงที่มาที่ไปเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเราแต่ละคนแล้ว เราอาจแปลกใจว่าสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่เราพบได้ คือ ความเห็นไม่ตรงกัน
เราขัดแย้งกันเพราะเราเห็นไม่ตรงกันใช่หรือเปล่า เพราะเราคิดว่าความเห็นของเราถูกกว่าของคนอื่น ซึ่งของเราถูกจริงๆ นะ เขาอาจจะคิดไม่ทันหรือไม่มีข้อมูลอย่างเรา ก็ว่ากันไปนะคะ เป็นต้นว่า ลูกน้องอยากทำแบบนี้ แต่ผู้บริหารอย่างเราผู้มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวในเรื่องพวกนี้มามากกว่าเห็นว่าไม่ใช่ แต่น้องก็มั่นใจเหลือเกินว่า ไอเดียบันเจิดของเขาเยี่ยมจริงๆ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าความคิดของพี่นักบริหารอาจใช้ได้ดีกว่าในสถาน การณ์นั้น หรือที่จริงแล้วไอเดียแปลกๆ ของน้องซึ่งมาจากนอกวงการอาจให้มุมมองที่ทำให้เราปรับแนวทางให้เฉียบขึ้นได้ แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใดถ้าขัดแย้งกันเสียแล้ว งานก็ออกไปแบบจำใจให้เกิดขึ้นได้
แล้วเราจะทำอย่างไรได้ในเมื่อทุกวันก็มีเรื่องไม่ตรงกันเป็นประจำ ต้องช่วยกันคิดช่วยกันหาทางออกอยู่แล้ว คำถามอยู่ที่ว่าปัญหาหลักอยู่ที่ไหนคะ อยู่ที่เราไม่สามารถคุยกันได้โดยสันติวิธีหรือเปล่า หรือว่าอยู่ที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เนื่องจากไม่ใช่ของเรา แม้ว่าเนื้อหาจะดูดีจริงๆ ซึ่งบางทีสาเหตุแรกก็เกิดจากสาเหตุที่สองด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ถ้าเราจับไม่ได้สาเหตุที่แท้จริงแล้ว... ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่ต้นตอได้
ถ้าเป็นเพราะ "วิธีการ" หรือเรียกกันง่ายๆ คือ เพราะพูดจากันไม่รู้เรื่อง อาจพูดแรงกันเกินไป พูดวาจาทำร้ายกัน หรือไม่ฟังกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่เกิดขึ้นประจำให้เราเห็นทั้งในสื่อมวลชน ทั้งข่าวชาวบ้านทะเลาะกันจนกระทั่งถึงระหว่างกลุ่มการเมือง ระหว่างประเทศ จึงมีการรณรงค์เรื่องสันติวิธีกันในหลายรูปแบบ บางส่วนก็เสนอให้หันหน้าเข้าหากัน มาคุยกันซึ่งๆ หน้าด้วยความสงบสันติ หลายครั้งการมีคนกลางช่วยเป็นผู้อำนวยการประชุมที่พบหน้ากันก็ช่วยให้ความสันติเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากมีการควบคุมกระบวนการวิธีการการคุยให้เป็นไปอย่างสันติ "ฟัง" กันเป็นจริงๆ เหมือนบทความก่อนหน้าที่ผู้เขียนเอ่ยถึง มิใช่ออกมาโวยวาย ด่าทอว่าร้ายกันโดยไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ใครจะถูกจะผิดจริงอย่างไรไม่สน รู้แต่ว่าคนของฉันพวกของฉันฉันเถียงแทนล่ะ
หลายกรณีที่สังคมถามหาว่าจะประท้วงกันทำไม เป็นกรณีที่แก้ได้ง่ายๆ โดยเพียงแต่จับเข่าคุยกัน และพยายามฟังเหตุผลของอีกฝ่ายโดยไม่เถียงไม่โต้แย้ง ฟังให้หมดเป็นคนๆ ไป ฟังจนจบจนเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง การถกเถียงโต้แย้งไปมาทั้งที่ยังคุยกันไม่จบเลย ทำให้เกิดการโต้เถียงกันบนเนื้อหาหรือเพียงแค่คำพูดบางคำ ที่ไปกระทบเสียดแทงบางส่วนเท่านั้นเอง ยิ่งพูดต่อยอดกันไปก็ยิ่งตีกัน...จนกระทั่งเรื่องเดิมแท้ที่จะแก้ไขไม่ได้แก้กัน
พอไม่มีเวลาจะคุยกันหรือไม่อยากจะคุยกันอย่างเปิดใจ เปิดหูรับฟังกันเต็มๆ แล้ว ยิ่งทำให้เรื่องที่จะคลี่คลายได้ไม่ยากเกิดความซับซ้อนขึ้น จนบางทีไม่อยากแก้แล้ว เป็นคนละข้างกันแล้ว โกรธกันไปเลยดีกว่า ไม่คบกันแล้ว เหตุการณ์แบบนี้มีให้เห็นได้ในหลายขนาดทีเดียว ทั้งขนาดครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ ถ้าสาเหตุมาจากเพียงวิธีการที่ไม่เหมาะไม่ควร เราก็เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการที่สันติขึ้นตามข้างต้น แต่ถ้าสาเหตุแท้จริงมาจากผลประโยชน์... : ก็เป็นอีกเรื่องแล้วค่ะ
ลองมาดูสาเหตุที่สองที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เนื่องจากไม่ใช่ของเรา แม้ว่าเนื้อหาจะดูดีจริงๆ ส่วนนี้ถ้าดูเผินๆ เราอาจคิดว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียหน่อย แต่ลองดูใหม่ซิคะ ดูให้ละเอียด ดูให้ทันตอนนี้เราหงุดหงิดขุ่นเคืองใจกับความเห็นที่คนอื่นเสนอมา ยิ่งรู้ทันในขณะนั้นๆ ยิ่งดีใหญ่จะได้เห็นชัด ดูอย่างเป็นกลางเราอาจค้นพบมิติในตัวเราเองที่...ที่แท้เราก็เผลอไม่รับความเห็นคนอื่น เพราะความเห็นนั้นไม่ใช่ของเราหรือนี่ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะทำอย่างไรดี
ที่ผ่านมาตอนที่เราเสนอความเห็น เขาออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยนี่ ตอนนี้ก็สมควรเป็นทีของเราไม่ใช่หรือ ถ้าคนนี้หรือคนกลุ่มนี้พูดเสนออะไรออกมา เราก็ไม่รับหรอกเพราะไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของพวกเรา พวกนั้นคิดอะไรออกมา พูดอะไรออกมาผิดหมด ไม่รับ ไม่เอา ใช้ไม่ได้ เจ้าคนพวก....นี้คิดอะไรใช้ไม่ได้ทั้งนั้น จริงหรือคะ : จริงหรือคะที่คนหนึ่งคนจะเห็นอะไรเพี้ยนไม่ถูกไม่ควรไปหมดทุกอย่าง หรือในทางตรงกันข้าม คนบางคนจะทำอะไรคิดอะไรถูกไปเสียหมด ดีใช่ใช้ได้ไปเสียหมด หรือคะ
เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนหลายคนในโลกนี้ หรือว่าทุกคนอาจมีความคิดเห็นดีที่เป็นประโยชน์ที่เรานำไปใช้ได้ หรือแม้แต่ในความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนั้น เราก็อาจใช้ในบางมุมได้ หรือความคิดเห็นนั้นอาจไปกระตุ้นให้เราคิดเรื่องอะไรใหม่ต่อยอดได้อีก ปัญหามักจะติดอยู่ตรงที่ข้อมูล ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือมาจากคนที่เราไม่ค่อยจะชอบเท่าไหร่นั้น มักจะได้รับมาไม่ครบหรือเด้งออกจากหัวไปเลย ก็เพราะไม่ค่อยอยากฟังหรือฟังแต่ไม่เข้ามาในใจในหัวของเราจริงๆ
เพียงแค่เรา "ทัน" กับใจเราเองในแต่ละจังหวะที่เราคุยกันนี้ จับได้ถึงลักษณะพฤติกรรมของใจเราเองทัน ปรับวิธีการ เปิดใจรับฟังอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้อคติซึ่งก็มีได้ตามฐานะของคนธรรมดาอย่างเรามาครอบงำจนเราได้รับข้อมูลที่บิดเบือนมาใช้ เราก็น่าจะได้ผลงานที่มีข้อมูลเต็มที่ ได้ผลดีที่สุดเท่าที่ข้อจำกัดต่างๆ มี และที่สำคัญสภาพความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่เราคิดว่าไอเดียไม่เข้าท่านี่แหละ ก็จะสามารถพัฒนาไปในทางที่ดีได้ แทนที่จะค้านกันกลางที่ประชุม หรือกลางที่สาธารณะ ตั้งตัวเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้ามกันชัดเจนอย่างนั้น
อีกคำถามที่ผู้เขียนได้รับบ่อยมาก คือ แต่เขาไม่ทำแบบเรานี่ ก็เหมือนเดิมซิ : ขอยิ้มอีกรอบ เราเริ่มที่เราก่อนได้มั้ยคะ ตัวเราเองคือคนที่เราจัดการได้ง่ายกว่า ลองเริ่มต้นที่เรา ผู้ซึ่งลดอัตตาตัวตนลงได้ เป็นผู้ให้ก่อน ให้การรับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่ พยายามเข้าใจอีกฝ่ายอย่างจริงใจ เป็นผู้ริเริ่มวงจรสันติภาพด้วยตัวเราเอง สิ่งแรกที่เราได้อาจเป็นสันติภาพในใจเรา ตั้งแต่ที่ทำใจได้ ตั้งใจจะสร้างสันติกับผู้อื่น จนกระทั่งตลอดสายการพูดคุยเจรจาซึ่งอาจไม่ง่ายนัก ขอให้ขันติและสันติมีแด่เราทุกคนและสังคมของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น