วันเสาร์, พฤศจิกายน 28, 2552

เด็กวัยเรียนกับการดูโทรทัศน์

ปัจจุบันกือบทุกครอบครัวมีโทรทัศน์เป็นแหล่งให้ความบันเทิง
และสาระข่าวสารต่างๆ เรียกว่าโทรทัศน์เป็นเพื่อนแก้เหงาก็คงได้
เราใช้เวลาอยู่หน้าจอกันมาก รับสิ่งต่างๆจากโทรทัศน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ข้อมูลที่ได้ผ่านเข้าสมองมามีผลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำไม่มากก็น้อย ถูกหลอมความคิด ความเชื่อและค่านิยมในการใช้ชีวิตจากเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่ดูอยู่ทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว

มีการศึกษาวิจัยกันมากถึงผลกระทบเชิงลบต่อเด็กจากการดูโทรทัศน์โดยเฉพาะในด้านอารมณ์ จิตใจและพฤติกรรมต่างๆ
เพราะเป็นที่รู้กันว่าเด็กเรียนรู้เร็ว
แต่ระบบคัดกรองข้อมูลในสมองยังทำงานไม่เต็มที่
แยกแยะไม่ได้ว่าอะไรดี/ไม่ดี อะไรควรเลียนแบบ/ไม่ควรเลียนแบบ

นักวิชาการด้านเด็กเกรงว่า
ถ้าเด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานอย่างสม่ำเสมอโดยลำพัง  ความคิด จิตใจและบุคลิกภาพของเด็กจะเป็นอย่างไร 
(ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วถือว่ามีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลทุกอย่าง
ส่วนจะรับไว้ในแง่มุมไหน แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล )

Children watching TV
Photo: © 2009 Jupiterimages Corporation

ที่น่าเป็นห่วงคือเนื้อหารายการโทรทัศน์ในบ้านเรา
ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเด็กช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้
รวมถึงปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดี 
วิธีคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาที่มีเหตุมีผลยังมีอยู่น้อย
เมื่อเทียบกับรายการที่เน้นแต่สนุกสนานเฮฮา ตลกขำขัน ไร้สาระ
หรือไม่ก็รายการละครส่วนใหญ่ที่มีเนื้อหาซ้ำซากอยู่กับแนวคิดเดิมในการดำเนินเรื่อง ดูละครไทยทุกวันนี้ก็แปลกใจ (ในทำนองเป็นกังวลมากกว่าชื่นชมยินดี) เพราะนึกไปสมัยเป็นเด็กประถมยังจำเนื้อหาของละครดังที่เคยดูเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำไมปัจจุบันแนวคิดและโครงเรื่องของละครยุคนี้ยังเป็นแบบเดิม 
รู้สึกเศร้าใจที่บรรดาตัวละครสาวๆยังวางแผนหาวิธีจับพระเอกมาแต่งงานกับพวกเธอเช่นเดียวกับสาวๆในละครยุคก่อน แทนที่ผู้จัดจะปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ทันสมัยและเป็นจริงเป็นจังขึ้น อย่างเช่น ตัวละครหลักมีความตั้งใจเล่าเรียนจนสำเร็จร่วมกับฝึกฝนทักษะที่ดีบางอย่างที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิต
ต้องมีการทำงานเลี้ยงชีพอย่างมนุษย์ที่มีเกียรติและมีความเคารพตัวเองพึงกระทำ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนดูในแง่คุณค่าการสร้างตัวโดยใช้ความสามารถและความพยายามของตัวเอง ไม่ใช้เล่ห์กลหรือทางลัดใดๆมาช่วยให้สำเร็จ
ค่านิยมเรื่องการพึ่งพาตนเอง
บวกกับความมานะอดทนในการทำงานที่สุจริต
เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้แน่น
แก่มนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติ
ถ้าเราตั้งอยู่บนความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน(หรือถ้าต่างกันก็ไม่มากเกินไป ดั่งฟ้ากับเหวอย่างในปัจจุบัน)
และทุกคนสมควรได้รับผลของความสำเร็จไม่มากก็น้อย
จากหยาดเหงื่อแรงงานสุจริตที่ตนกระทำ

มีคำตอบให้กับตัวเองหรือยังว่าเราควรช่วยลูกหลานเรา
ในการเลือกดูรายการโทรทัศน์หรือไม่
สรุปว่า
ประโยชน์หรือโทษจากการดูโทรทัศน์นั้นขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย
เช่น เนื้อหารายการ, คุณพ่อคุณแม่มีเวลานั่งดูรายการโทรทัศน์ร่วมกันกับลูกเพื่อที่จะคอยชี้แนะ อธิบาย แสดงความเห็นที่มีเหตุมีผลเวลาที่มีภาพหรือเนื้อหาไม่เหมาะสม, เวลาที่ใช้ในการดู
รวมถึงตัวเด็กเองรู้จักจัดสรรเวลาเพื่อใช้ในการทำสิ่งอื่นที่สำคัญเช่น การทำการบ้าน การทบทวนบทเรียน การเล่น/การออกกำลังกาย การช่วยทำงานบ้านหรือไม่ อย่างไร



คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สำคัญในการปลูกฝัง
ลักษณะนิสัยที่ดีในการดูโทรทัศน์ของลูกParent and child watching TV
Photo: © 2009 Jupiterimages Corporation
 

โดยมีหลักง่ายๆในการช่วยให้ลูกดูโทรทัศน์ได้อย่างเหมาะสมดังนี้
      1.      ร่วมกันกำหนดวันและเวลาที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ในแต่ละสัปดาห์ให้แน่นอน โดยในเด็กวัยเรียนควรใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน
      2.      บอกให้ลูกรู้ว่าต่อจากนี้ไปลูกจะดูโทรทัศน์ได้ตามวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น
3.      ให้ลูกเลือกรายการที่ลูกต้องการดูล่วงหน้าและร่วมกันพูดคุยกับลูกว่ารายการไหนควรดู ไม่ควรดู รายการไหนที่ดีมีประโยชน์ หรือการ์ตูนเรื่องไหนที่มีการใช้ความรุนแรง  มีเนื้อหา คำพูดที่ไม่เหมาะสม
4.      อธิบายกติกาการดูโทรทัศน์ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ให้ดูแต่รายการที่เลือกไว้แล้วเท่านั้น ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะดูโทรทัศน์ได้ ห้ามทะเลาะกับพี่น้องระหว่างนั่งดู ห้ามเปิดโทรทัศน์นอกเหนือจากเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะต้องโดนตัดสิทธิ์การดูตลอดทั้งสัปดาห์จากการฝ่าฝืนกติกา
5.      ยืดหยุ่นกติกาได้บ้าง เช่น ถ้ามีรายการที่ดี คุณอาจจะเพิ่มเวลาพิเศษให้ลูกดูได้เป็นครั้งๆตามความเหมาะสมและวิจารณญาณของคุณ
6.      ถ้าลูกไม่ทำตามกติกาที่ตั้งไว้ ให้ทำโทษโดยการงดดูโทรทัศน์ในวันนั้น ให้ทำเฉยเมื่อเด็กแสดงอาการต่อต้านหรือต่อรอง หรือถ้าเด็กยังคงดื้อดึง ต่อต้าน ให้นำโทรทัศน์ไปเก็บในที่ที่เด็กเข้าถึงไม่ได้
7.      พูดชมเชยหรือให้รางวัลเล็กๆน้อยๆถ้าลูกทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ เช่น อนุญาตให้ดูโทรทัศน์รายการดีๆได้เพิ่มขึ้นช่วงเสาร์/อาทิตย์  พาไปเที่ยวในที่ที่ลูกชอบ เช่น เขาดิน สวนรถไฟขี่จักรยานเล่น พิพิธภัณฑ์ดีๆใกล้บ้าน หรือทำอาหารที่ลูกชอบให้ลูกรับประทาน
8.      สนับสนุน และส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่นๆนอกเหนือจากการดูโทรทัศน์ เช่น การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา การช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน การช่วยสอนการบ้านน้อง การเป็นอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม
9.      เด็กไม่ควรมีโทรทัศน์ในห้องส่วนตัวเพราะจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง

สำคัญที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรเป็น
ตัวอย่างที่ดีของการดูโทรทัศน์ให้กับลูก
คุณไม่ควรติดดูโทรทัศน์แล้วบอกลูกให้ไม่ดู

ความจริงก็คือเด็กจะเลียนแบบการกระทำของพ่อแม่โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่
จึงควรรู้เท่าทันประโยชน์และโทษของการดูโทรทัศน์….
จงฉลาดในการเลือกรับแต่ประโยชน์
ละคอยกำกับดูแลไม่ให้ลูกได้รับโทษจากโทรทัศน์นะคะ
ด้วยความปรารถนาดีต่อทุกครอบครัว
ขอบคุณบทความดีจากแพทย์หญิงดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว
และ www.momypedia.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น