วันอังคาร, พฤศจิกายน 17, 2552

อัญมณีและเครื่องประดับไทยปี’53 : ยังคงขึ้นกับทิศทางการเติบโตของทองคำ

ภาพรวมการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 269,481.4 ล้านบาท โดยการขยายตัวดังกล่าวเกิดจากนักลงทุนหันมาเก็งกำไรและลงทุนกับทองคำมากขึ้น ส่วนการส่งออกเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป กลับหดตัวลงร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 101,616.3 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยลบที่รุมกระหน่ำนับตั้งแต่ปลายปี 2551 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปของไทยถดถอยลงอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงภาวะการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 พบว่าสามารถกลับมาได้เปรียบดุลการค้าอีกครั้งเป็นมูลค่า 129,822.1 ล้านบาท หลังจากที่ประสบภาวะขาดดุลการค้าสูงสุดในปี 2551 ที่ผ่านมา โดยมีเพียงสินค้าเพชรและไข่มุกเท่านั้นที่ขาดดุลการค้าในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องประหยัดการใช้จ่ายลง โดยมีทั้งกลุ่มที่ชะลอหรือไม่ซื้อเลย และกลุ่มที่หันไปซื้อสินค้าเครื่องประดับที่มีราคาไม่แพงมากนักแทน อาทิ เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเทียม ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
การปรับตัวของราคาทองคำและราคาเงิน ในช่วงครึ่งแรกปี 2552 ทั้งทองคำและเงินซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าเครื่องประดับอัญมณีต่างปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและผันผวนอย่างรุนแรง ทำให้ต้นทุนการผลิตเครื่องประดับของไทยสูงขึ้น แหล่งวัตถุดิบสำคัญอย่างพม่าและมาดากัสการ์มีอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น โดยในกรณีของพม่านั้น สหรัฐฯประกาศกฎหมาย Tom Lantos Block Burmese Jade( Junta’s Anti-Democratic Efforts) Act of 2008 โดยกำหนดห้ามการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ใช้วัตถุดิบหยกและทับทิมจากพม่ามาผลิตสินค้าเครื่องประดับสำหรับส่งออกไป ทำให้สินค้าเครื่องประดับไทยที่ผลิตโดยอาศัยวัตถุดิบจากพม่าเป็นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงกรณีที่ประธานาธิบดีแห่งมาดากัสการ์ได้มีคำสั่งห้ามส่งออกพลอยดิบทุกประเภท ยกเว้นพลอยดังกล่าวจะได้รับการเจียระไนแล้วเท่านั้นนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ส่งผลต่อเนื่องให้การค้าพลอยของไทยซบเซาไม่ใช่น้อย สินค้าเครื่องประดับทองของไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีของสินค้าเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองของไทย ทำให้การส่งออกเครื่องประทองไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงปีที่ผ่านต้องเผชิญทั้งภาวะกำลังซื้อถดถอย และข้อจำกัดทางด้านมาตรการทางการค้า อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่มีผลต่อประเทศคู่แข่งของไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือ อินเดีย เผชิญกับสถานการณ์ภาวะการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ที่แข็งค่าสูงสุดในรอบหลายปี ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ค้าขายกันในเทอมดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทแล้วลดลง อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการเองก็ได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยงด้วยการเสาะแสวงหาตลาดใหม่ๆในประเทศจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ที่สามารถพลิกฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงขึ้นก็ตาม แต่หากไม่เร่งปรับปรุงกลยุทธ์ก็อาจจะยิ่งส่งผลร้ายต่อกิจการมากขึ้นก็เป็นไปได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายก็มุ่งขยายจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องประดับอัญมณีกลุ่มกลาง-สูง (Medium-High End) ให้กับแบรนด์ระดับโลก มาเป็นบริษัทแบรนด์เครื่องประดับโลก (World Class Jewelry Brand Company) ซึ่งมีฐานการจัดจำหน่ายและค้าปลีกกระจายไปตามภูมิภาคที่สำคัญของโลกเช่นเดียวกัน และเพิ่มตลาดแบรนด์สินค้าของตนเอง (Own Brand Manufacturing : OBM) ในตลาดเอเชีย เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐบาลเองก็ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมมากขึ้นด้วยการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของพลอยดิบนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเหลือเพียงการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ระดับร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการต่ำลงและมีโอกาสในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐก็ได้พยายามเปิดหาตลาดใหม่ๆเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องด้วย  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2552 น่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 40-50 ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับปี 2550 ขณะที่การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำนั้น คาดว่าน่าจะหดตัวร้อยละ 10-15 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 135,000-140.000 ล้านบาท ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ถดถอยอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2551 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 สถานการณ์และแนวโน้มปี 2553 การส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้การเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2552 โดยมีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยยังคงนิยมที่จะลงทุนและค้ากำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำแท่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยในปี 2553 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะคาดว่าราคาเฉลี่ยของทองคำในปี 2553 จะยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับฐานที่ต่ำของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอื่นๆที่ไม่ใช่ทองในปี 2552 โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป นั้นอาจจะฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ เพราะแรงส่งของการฟื้นตัวจากความต้องการในประเทศคู่ค้าหลักยังไม่ชัดเจนมากนัก โดยคาดว่าเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเทียมจะยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ระดับหนึ่ง เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจตกต่ำที่ยังคงชื่นชอบการแต่งตัวได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยราคาถูกกว่าเครื่องประดับทอง
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจและคาดว่าจะมีอิทธิพลต่อทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2553 ประกอบด้วย
-การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แม้ว่าเศรษฐกิจของผู้นำทางเศรษฐกิจโลกอันได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นจะมีสัญญาณฟื้นตัว แต่โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวยังมีความผันผวนพอสมควร ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนในอนาคต
ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ มีความเป็นไปได้ว่าราคาวัตถุดิบทั้งเงินและทองในปี 2553 จะมีความผันผวนอย่างรุนแรง และอาจส่งผลให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อชั่วคราวจากลูกค้าได้
-ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งหากค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่ากว่าโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินของคู่แข่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคส่งออกในรูปเงินบาทต่อไป
-ความเคลื่อนไหวของการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ขณะนี้สหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เพราะหากสหรัฐฯไม่มีการต่ออายุจีเอสพีให้แก่สินค้าเครื่องประดับเงินของไทย ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน เพราะในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 ที่ผ่านมา เครื่องประดับเงินของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้เข้าประเทศที่สำคัญในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อีกทั้งยังพึ่งพาตลาดสหรัฐฯค่อนข้างสูง หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ45 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว
-การแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งที่เร่งผลักดันการส่งออก ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไม่เพียงแต่ไทยที่ถูกกระทบทางด้านการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ประเทศคู่แข่งของไทยทั้งจีน อินเดีย และอิตาลี ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับไทย ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ประเทศคู่แข่งของไทยต่างก็ต้องพยายามเร่งเพิ่มมูลค่าการส่งออกเพื่อชดเชยผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวในปี 2552
-การเปิดตลาดใหม่ วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อย่างรุนแรง ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดดังกล่าวประสบปัญหาค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยจึงต่างเร่งหาตลาดใหม่เพื่อทดแทน โดยตลาดใหม่ที่น่าสนใจได้แก่
ตลาดที่มีแนวโน้มดี
จีน จากการประเมินล่าสุดในเดือนตุลาคม 2552 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) พบว่าภาวะเศรษฐกิจจีนในปี 2553 จะเติบโตประมาณร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2552 จึงนับเป็นประเทศที่น่าจะมีศักยภาพในการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างสูงนับจากนี้
สมาคมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับจีนได้ประเมินว่า ในปี 2553 ยอดขายอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศจีนจะทะยานขึ้นเป็น 200 พันล้านหยวน จากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 170 พันล้านหยวนในปี 2550
อุปสงค์ต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่วนใหญ่มาจาก 1)การแต่งงาน 2)การใช้ในชีวิตประจำวัน และ 3)นักท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการอาจจะต้องเน้นกลุ่มลูกค้าในวัยทำงาน หรือช่วงวัยกำลังจะแต่งงาน ไปจนถึงกลุ่มวัยกลางคน ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ และควรเน้นด้านการพัฒนารูปแบบของสินค้าเป็นสำคัญ
ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อัตราภาษีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะทยอยลดลง โดยส่วนใหญ่จะเหลือ 0% ภายในปี 2553 แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วย อย่างไรก็ตาม จีนก็ได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆด้วยเช่น อเมริกาใต้ ปากีสถาน ฮ่องกง ชิลี นิวซีแลนด์ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศดังกล่าวด้วย
แม้ว่าอุปสงค์ในจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่การขยายตลาดไปยังจีนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องเผชิญกับทั้งคู่แข่งนานาประเทศและผู้ประกอบการจีนเองที่มีความได้เปรียบด้านราคา ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องพยายามนำเสนอความแตกต่างเหนือสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป รวมถึงการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ และขยับขึ้นสู่ตลาดคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงศึกษาข้อมูลการบริโภคสินค้าในระดับรายมณฑล เพราะพื้นที่ที่แตกต่างกัน ย่อมมีรสนิยมที่แตกต่างกันด้วย
ตะวันออกกลาง เป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ โดยไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2548-2551 ในระดับร้อยละ 35.9 ร้อยละ 23.8 ร้อยละ 50.4 และร้อยละ 71.4 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดไปประเทศอาหรับนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษากลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจน เพื่อวางแผนการออกแบบ และตั้งราคาจำหน่ายให้ถูกต้องและเหมาะสม
ผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสในการแข่งขันในตลาดแถบนี้คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับทองคำและเครื่องประดับเงินที่มีคุณภาพสูง รวมถึงพลอยสีที่เจียระไนแล้วและมีการออกแบบที่สวยงาม ประณีต และหรูหรา ทั้งนี้ ชาวอาหรับที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับขนาดและสีสันของอัญมณีค่อนข้างมาก และสินค้าควรมีตราสินค้าเพื่อสร้างการจดจำในระยะยาว
การประชาสัมพันธ์หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสำหรับอัญมณีและเครื่องประดับในอาหรับเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เหมาะสมและตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่นนิตยสารหรือหนังสือสำหรับผู้หญิง
รัสเซีย เป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่มีศักยภาพแห่งหนึ่ง ด้วยมูลค่าการค้าที่สูงกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และแม้ว่ารัสเซียจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงินโลกบ้าง จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าในปี 2552 เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวถึงร้อยละ 7.5 แต่ก็อาจจะสามารถฟื้นตัวได้ด้วยการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในปี 2553
ปัจจุบันรูปแบบเครื่องประดับของรัสเซียได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบตามแฟชั่นตะวันตก ซึ่งผู้บริโภคตลาดระดับบนมักนิยมเครื่องประดับสมัยใหม่ที่มีการเจียระไนที่งดงาม แปลกตา ส่วนกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงล่าง มักจะเลือกซื้อเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลเลเดียม ที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงตามกระแสแฟชั่น
นับตั้งแต่ปี 2546-2551 รัสเซียมีการนำเข้าเครื่องประดับแท้จากไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะสะดุดบ้างในปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หากรัสเซียสามารถฟื้นตัวได้เร็วตามการคาดการณ์ของหลายๆฝ่าย ก็น่าจะเป็นผลดีต่อเครื่องประดับแท้ของไทย การเจาะตลาดรัสเซียนั้น ผู้ประกอบการไทยควรหาหุ้นส่วน หรือสร้างพันธมิตรกับบุคคลผู้กว้างขวางในวงการอัญมณีและเครื่องประดับของรัสเซีย เพื่อให้การประสานงานทั้งระดับรัฐบาลและเอกชนเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรมีพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษารัสเซียได้ เพื่อประโยชน์ต่อการติดต่อทำการค้ากับชาวรัสเซีย เนื่องจากชาวรัสเซียส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เท่าที่ควร หรือ อาจจะต้องจ้างนักเรียนไทยในรัสเซีย ซึ่งขณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร เพื่อเป็นล่ามในการติดต่อสื่อสาร
ที่มา : Global Trade Atlas สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
บทสรุป
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศไทยในอันดับต้นๆมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่สินค้ากลุ่มดังกล่าวจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้โอกาสของอุตสาหกรรมนี้จึงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อตลาดส่งออกหลักเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปลายปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 จึงส่งผลให้การส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวหดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ในปี 2552 การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำนั้น จะเติบโตติดลบร้อยละ 10-15 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 135,000-140.000 ล้านบาท ซึ่งหดตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ขณะที่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวมที่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปด้วยนั้นในปี 2552 น่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 40-50 ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยมีตัวแปรสำคัญในการผลักดันการขยายตัวคือการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป
สำหรับสถานการณ์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยในปี 2553 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2553 ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน อันจะมีผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งส่งออกทองคำเพื่อทำกำไร และลดความเสี่ยงจากการถือครองทองคำจำนวนมากที่ผู้บริโภคภายในประเทศนำมาขายเหมือนดังเช่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานที่ต่ำของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอื่นๆที่ไม่ใช่ทองในปี 2552 โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงการเติบโตของภาคการผลิตที่แท้จริงของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนั้นอาจจะฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ โดยมีตลาดใหม่ๆอย่างจีน รัสเซีย และตะวันออกกลางเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น