วันศุกร์, พฤศจิกายน 20, 2552

การลงทุนและความเสี่ยงในปี 2010 จากมุมมองของเมอร์ริล ลินช์


เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
เมอร์ริล ลินช์ มองโลกในแง่ดีว่าการลงทุนในปีหน้า จะมีความราบรื่นด้วยปัจจัยดังนี้
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในปี 2010 จะสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 3.0% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.5%) และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว4.2% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.1%)
2. เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับต่ำ ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงจะถูกถอนออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงิน ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงจะยังไม่ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจนกระทั่งปี 2011
3. เมอร์ริล ลินช์ จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นและตราสารทุนของบริษัท ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและมีความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องเน้นการถือเงินสดและพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามาก
4. ดอกเบี้ยระยะยาวจะยังต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรรัฐบาล (ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น) จะติดลบเล็กน้อยในปี 2010
5. การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (อาทิเช่น ทองคำ น้ำมัน และทองแดง) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในปี 2010แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเริ่มมีเสถียรภาพ และไม่อ่อนตัวเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้
6. กล่าวโดยสรุปคือนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การที่ราคาหุ้นยังไม่สูงมากในขณะนี้ ประกอบกับระบบธนาคารที่จะกลับมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นของโลกสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก 20% ในปี 2010
7. อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของหุ้นนั้นมีความแตกต่างกัน คือ ในประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) จะเป็นการปรับขึ้นในเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี (secular bull market) แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของเศรษฐกิจขาขึ้น (cyclical bull market) ทั้งนี้ สำหรับประเทศยุโรปนั้น เมอร์ริล ลินช์ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นมากกว่ามาตรฐาน (overweight) เพราะคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวได้ดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดมาก (เมอร์ริล ลินช์ มองว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 2.2% ในปี 2010 ในขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะขยายตัวไม่ถึง 1%)
เมอร์ริล ลินช์ สรุปปัจจัยความเสี่ยงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น (แต่ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้) รวมทั้งสิ้น ข้อดังนี้
1. ราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 100 ดอลลาร์ และเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น ในกรณีดังกล่าวเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น4% ภายในปลายปี 2010 (จาก -1% ในขณะนี้) ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไปและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย ทำให้อุปสงค์ของน้ำมันปรับสูงขึ้นเกินคาด ผลคือธนาคารกลางจะต้องปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น ในขณะที่การปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาว จะทำให้การบริหารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ (ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก) จะยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้เมอร์ริล ลินช์ ให้จับตาดูว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นเกิน 1,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น ควรจะต้องลดการลงทุนในพันธบัตรและเพิ่มการลงทุนในทองคำและหุ้นกับเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น
2. เศรษฐกิจชะลอตัวลงเป็นตัว "W" ในกรณีนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวลงเกินความคาดหมายใน 12 เดือนข้างหน้า จนกระทั่งกลายเป็นการหดตัวอันเป็นผลมาจากการถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม) อย่างเพียงพอและผู้บริโภคก็ออมเงินมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวดังคาด ในกรณีนี้ดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับลดลงได้ถึง 1.5% จากปัจจุบันและดัชนีการผลิตต่างๆ จะต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนสูงสุด และลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคง (อาทิเช่น บริษัทผลิตไฟฟ้า) หุ้นที่พึ่งพาการขยายตัวของเศรษฐกิจและหุ้นประเทศกำลังพัฒนาจะให้ผลตอบแทนต่ำ
3. ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างเชื่องช้า ทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่จีนตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ทำให้เงินทุนไหลเข้าไปเก็งกำไรในประเทศจีน จนกระทั่งราคาสินทรัพย์ในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้จีนประสบปัญหาเงินเฟ้อในที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ประสบปัญหาทำนองเดียวกันด้วย ในกรณีนี้นักลงทุนควรเน้นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ) หุ้นประเทศBRIC และเงินสกุลเอเชีย
4. การกีดกันทางการค้าควบคู่กับวิกฤติเงินดอลลาร์ ในกรณีนี้การว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงพร้อมกับเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างมากเทียบกับเงินหยวน ทำให้นักการเมืองทั้งของสหรัฐและยุโรปรุมโจมตีจีน และผลักดันมาตรการกีดกันการค้าจีนอย่างรุนแรง จีนตอบโต้โดยการปฏิเสธที่จะซื้อเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างรุนแรง และดอกเบี้ยในสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมกันไป ความเสี่ยงนี้อาจเกิดขึ้นได้หากอัตราการว่างงานในสหรัฐสูงถึง 10.8% (จาก 10.2% ในขณะนี้) และหากเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมากกว่าปัจจุบันอีก 10% และราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปที่ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกรณีนี้นักลงทุนไม่มีทางเลือกมากนัก โดยจะต้องถือเงินสด ทองคำและรอซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งราคาจะปรับลดลงอย่างมากในตอนแรก ในขณะเดียวกัน ราคาหุ้นในตลาดหลักจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
5. รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลงบประมาณมากถึง 10.2% ของจีดีพี และมีหนี้สาธารณะสูงถึง 218% ของจีดีพี ซึ่งหากสภาวะหนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปรับตัวดีขึ้น ในอนาคตก็อาจทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว หากพยายามใช้จ่ายเงินมากเกินไป เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ ในกรณีดังกล่าวธนาคารกลางของญี่ปุ่นก็จำต้องพิมพ์เงินเยนออกมาช่วยเหลือรัฐบาล ซึ่งอาจผลักให้ดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.5-4.0%พร้อมกับการอ่อนตัวของเงินเยน
6. ภาคอสังหาริมทรัพย์และผู้บริโภคสหรัฐฟื้นตัวดีเกินคาด ซึ่งเป็นกรณีที่นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผลดีเกินคาด ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์หลักๆ ของสหรัฐฟื้นตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรุนแรง (ดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) และหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรอย่างมาก รองลงมา คือ ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี
ทั้งนี้ ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าปัจจัยเสี่ยงทั้ง ข้อที่กล่าวมานั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดเงินและตลาดทุน เหตุที่ต้องนำเสนอความเสี่ยงดังกล่าว ก็เพราะวิกฤติเพิ่งผ่านมานั้นก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น อาทิเช่น การที่ราคาหุ้นของโลกปรับตัวลดลง 20% ในเดือนตุลาคม 2008 นั้น หากอาศัยหลักสถิติที่ตั้งสมมติฐานว่าความผันผวนกระจายตัวปกติ (normal distribution) ก็จะคำนวณออกมาว่าการปรับลดลงของราคาหุ้นที่รุนแรงดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้น ครั้ง ทุกๆ 4,112 ปี และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2008 ควรจะเกิดขึ้น ครั้งในรอบ 14,079 ปี แปลว่าแบบจำลองสถิติที่เราใช้กันอยู่ประเมินความเสี่ยง (ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น) ต่ำเกินกว่าความเป็นจริงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น