วันอังคาร, พฤศจิกายน 03, 2552

ผู้นำกับคนเก่ง

คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา Michita@ThaiBoss.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 4001 (3201)

ในชีวิตหนึ่งๆ ของพวกเราได้เคยเห็นผู้นำในองค์กรหรือของประเทศต่างๆ รูปแบบ บางคนเด่นขึ้นมาอย่างหวือหวาฮือฮา และจบฉากด้วยข้อกังหาร้อยแปด บางคนดูเป็นคนธรรมดาแต่เป็นที่เคารพต่อมาแม้เกษียณอายุไปแล้ว ผู้นำแบบไหนจึงจะสร้างผลงานได้จริงและเป็นที่นิยมชื่นชอบอยู่ได้นาน

David McCullough นักประวัติศาสตร์อเมริกันผู้ศึกษาชีวิตผู้นำทั้งหลายให้สัมภาษณ์ใน HBR ว่า ผู้นำที่เขาพบว่า ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนั้นมีส่วนร่วมสำคัญ อย่างหนึ่งคือสามารถชี้ความสามารถของคน (spotting talent) หรือเห็นคุณค่าในคน เขาพบว่าประธานาธิบดี Washington อาจจะไม่ใช่คนฉลาดที่สุด พูดจาดึงดูดผู้คนที่สุด หรือว่าเป็นทหารที่ชาญฉลาดที่สุด แต่ว่าเขาเป็นคนที่เกิดมาเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่มีความซื่อตรง และสามารถ ชี้ความสามารถของคนได้ แม้ว่าจะดู ไม่เด่นชัดก็ตาม

คนสองคนที่เยี่ยมที่สุดของเขาดูเผินๆ เป็นคนธรรมดามาก Henry Knox เป็น คนขายหนังสือที่อ้วนใหญ่ อายุน้อย ไร้ประสบการณ์ แต่มีไอเดียให้ไปเอา ปืนใหญ่มาจากเมือง Ticonderoga มาที่ Boston ทำให้สามารถขับไล่คนอังกฤษไปจากเมืองได้ อีกคนหนึ่งคือ Nathanael Greene ซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาที่เดิน ขาโขยกเขยก ไม่มีประสบการณ์ทางการทหาร แต่ Washington เห็นคุณค่าสำคัญของคนคนนี้ ซึ่งในที่สุดเป็นนักยุทธศาสตร์ ที่ยอดเยี่ยมกว่าตัว Washington เอง เขารู้ว่าจะทำอย่างไร กับคนพิเศษสองคนนี้ ให้โอกาสพวกเขา ลดการบังคับบัญชาและให้คนเหล่านี้ทำงานของเขาไป

ตัวอย่างในประเทศไทยในปัจจุบันก็มีอยู่ไม่น้อย ที่ธุรกิจขยายใหญ่โตได ้เพราะเห็นคุณค่าและสามารถทำงานร่วมกับลูกน้อง หรือทีมงานที่มีความสามารถแต่ละด้านเก่งกว่านายใหญ่ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา มีคนจบการศึกษาสูงปริญญาโท ปริญญาเอกในแต่ละสาขามากมาย ทำงานให้เถ้าแก่ที่ไม่มีความรู้เฉพาะเรื่องเก่งเท่าท่านเหล่านั้น เพียงแต่เขา "เก่งคน" รู้จักบริหารคนเก่งให้เหมาะสมพอดี ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น การก่อตั้งของ เครือ ซี.พี. เครือสหพัฒน์

McCullough ยังเสนอตัวอย่าง ประธานาธิบดี Truman ซึ่งล้อมรอบไปด้วยคนที่เรียนสูงกว่า บ่มเพาะมาดีกว่า ร่างกายดูดีกว่า สูงกว่า เขาไม่ได้กังวลหรือกลัวว่าคนอื่นจะเด่นหรือสำเร็จเกินหน้าตน และนั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีคนนี้ มีคณะรัฐมนตรีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด คณะหนึ่ง ผู้คนกล่าวถึง Truman ว่า เขาเป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นบุคคลที่คนรอบข้างชื่นชอบมากทีเดียว

ผู้นำเหล่านี้เห็นคุณค่าของคน สามารถชี้ความสามารถสำคัญของคนเหล่านั้น และบริหารคนเก่งเหล่านั้นได้เหมาะเจาะพอดี เมื่อประจวบกับคุณธรรมพื้นฐานที่ดีของผู้นำ ทำให้คนเก่งพิเศษต่างๆ ทำงานให้ด้วยคุณภาพไม่ธรรมดา การที่ผู้นำสักคนจะกล้าหาลูกน้องหรือทีมงานที่มีความสามารถเก่งกว่า หรือดูดีมีภาษีมากกว่าตน มาร่วมงานด้วยนั้น อาจดูเหมือนง่าย แต่ถ้าเราสังเกตจากองค์กรต่างๆ ให้ดี หรือจากความรู้สึกของตัวเราเองก็ดี กว่าผู้นำจะทำใจรับคนเหนือกว่าเหล่านี้ได้ ต้องวางใจแบบไหน จึงจะอยู่ในสภาวการณ์ที่มีคนเก่งกว่า ดีกว่าทำงานอยู่ล้อมรอบได้

ผู้นำผู้บริหารที่ได้ขึ้นมาอยู่ตรงตำแหน่งเหล่านี้ก็เพราะความรู้ความสามารถของตน แต่ถ้ามีคนเก่งกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่ามาอยู่ใกล้ๆ เป็นทีมงานหรือลูกน้อง ของตน หลายคนทำใจไม่ได้ คนเคยเด่นที่สุด เป็นที่ยอมรับที่สุด พอมีคนมาเทียบหรือดูจะเหนือกว่า ก็อดจะกดหรือดึงคนเหล่านั้นให้ลงมาต่ำกว่าตนจนได้ อาจโดยวิธีหาข้อตำหนิติเตียนคนนั้นๆ หรือหนักข้อเข้าถึงขนาดกลั่นแกล้งจนอยู่ด้วยกันไม่ได้ รากเหง้าการกระทำเหล่านั้นก็อาจเป็น "มานะ" หรือความถือดีของตน หรือบางคนก็อิจฉาลูกน้องของตนนั่นเอง

บางคนกลัวลูกน้องแซงหน้าตนรีบสกัดดาราโดยการคว้าผลงานมาเป็นของตัวเอง ลูกน้องก็เสียความรู้สึก ที่หัวหน้าเอาความดีความชอบไป ผู้ใหญ่ที่ดูออกก็จะเห็นถึงความ "ไม่เป็น" ของหัวหน้าแบบนี้ แทนที่จะชงให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถ หรือชื่นชมลูกน้องให้ผู้ใหญ่เห็น โดยมีเราอยู่เคียงข้าง ลูกน้องจะได้รู้สึกภูมิใจในตัวเขาเอง และขอบคุณที่หัวหน้าเปิดโอกาส ให้เขา หัวหน้ากลายเป็นผู้นำที่สามารถสร้างคนให้งอกงามเติบโตได้ และสุดท้ายผลงานก็อยู่ในหน่วยงานของเรานั่นเอง

ในอีกสุดโต่งที่พบคือหัวหน้าไม่ยอม ออกหน้าบ้างเลย ให้แต่ลูกน้องแสดงฝีมือ แบบนี้ก็อาจจะหนักเกินไป กลายเป็นว่า เราเป็นเพียงคนโชคดีที่มีลูกน้องเก่ง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม หรือ show time ก็ออกไปแสดงฝีมือบ้างก็ได้ แสดงความเป็นผู้นำบ้าง เพียงแต่จุดสำคัญคือ "ถอยเป็น" เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงออกบ้างเท่านั้นเอง ทำให้ลูกน้อง หรือทีมงานได้มีโอกาสโผล่หายใจหรือ รับแสงแดดบ้าง

ถ้าหัวหน้าเป็นต้นไม้ใหญ่หนายืนตระหง่านรับแดดคนเดียว ต้นไม้เล็กใต้ต้นหรือหญ้าก็จะตายเรียบ เพราะไม่มีแดด ส่องถึงเลย participative management ที่ร่ำเรียนมาว่า ทุกคนควรมีส่วนร่วมจะเป็นจริงได้อย่างไร ถ้าหัวหน้ากวาดความเด่นไว้ที่ตนคนเดียว ส่วนร่วมสำคัญในการแสดงฝีมือในการรับการยอมรับจึงหายไป แบบนี้คงหวังให้คนเก่งมาทำงานด้วยยาก

นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ผู้นำจากฝั่งตะวันออกเห็นพ้องกับฝั่งตะวันตก เป็นแนวคิด ที่ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวของผู้คน เป็นร้อยเป็นพันปี ให้คนรุ่นหลังเรียนลัด ได้ ต่อยอดได้ ไม่ตกหลุมพรางความเป็นมนุษย์ปุถุชนกันอีก

อ้างอิง : Timeless Leadership. Harvard Business Review, March 2008, p.45-49.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น