วันอังคาร, พฤศจิกายน 10, 2552

เก่งให้เท่าก่อนที่คิดจะแซง


ก้าวไกลวิสัยทัศน์ : ดร.บวร ปภัสราธร  กรุงเทพธุรกิจ  กรุงเทพธุรกิจ  วันจันทร์ที่16 เมษายน พ.ศ. 2550
เล่ากันว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนมีอาจารย์ด้านโทรคมนาคม จากมหาวิทยาลัยฝรั่งไปเยี่ยมชมกิจการ ของมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของเกาหลี อาจารย์ฝรั่งตั้งความหวังไว้ว่า จะได้พบเห็นผลงาน ที่แสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมของเกาหลี ผ่านทางผลงานของนักศึกษาที่ตนเองไปเยี่ยมเยียน แต่ปรากฏว่าผลงานที่นำมาเสนอนั้นกลายเป็นอุปกรณ์โทรคมนาคมของเก่าที่ฝรั่งทำได้แล้วเมื่อหลายปีก่อน เป็นผลงานย้อนหลังที่ไม่มีความทันสมัยใดๆ นักศึกษาเกาหลีเพียงแต่ทำเลียนแบบสิ่งที่ฝรั่งทำได้แล้ว ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากงานเก่าๆ ของฝรั่ง
อาจารย์ฝรั่งกลุ่มนั้นเลยสรุปว่า เกาหลีไม่มีวันที่จะไล่ทันฝรั่งได้ เพราะมัวแต่ไปทำงานเกี่ยวกับของเก่าที่ฝรั่งทำได้แล้ว ไม่ยอมก้าวกระโดดนำหน้าไปทำของใหม่ อาจารย์ฝรั่งเชื่อว่าต้องมองข้ามของเก่าไปเลย แล้วใส่ใจกับของใหม่จะดีกว่า
เวลาผ่านไปเกือบสิบปี อาจารย์ฝรั่งกลุ่มเดิมกลับไปที่เกาหลีใหม่อีกครั้ง คราวนี้ภาพที่อาจารย์ฝรั่งคิดไว้ ตรงข้ามกับสิ่งที่เขาได้พบเห็น จากผลงานอุปกรณ์โทรคมนาคมของนักศึกษาที่อาจารย์เกาหลีนำมาให้ดู ปรากฏว่าของใหม่ที่มาแสดงให้ดูนั้นมีหลายอย่างก้าวล้ำหน้าอย่างคาดไม่ถึง ขนาดที่ต้องยอมรับเลยว่า หลายอย่างก้าวหน้ากว่าที่ฝรั่งกำลังทำอยู่เสียอีก เหตุใดเกาหลีจึงก้าวล้ำหน้าได้ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ยังเสียเวลาอยู่กับอุปกรณ์โทรคมนาคมของเก่าของฝรั่งอยู่เลย
อาจารย์ฝรั่งอดรนทนไม่ไหว จึงออกปากถามอาจารย์เกาหลีไปว่า เมื่อสิบปีก่อนทำไมจึงไปเสียเวลาอยู่กับเทคโนโลยีเก่าๆ ของฝรั่ง ถ้าเริ่มต้นกับของใหม่เสียตั้งแต่ตอนนั้น โอกาสที่จะก้าวหน้าล้ำสมัยมากกว่านี้ก็มีอยู่มาก อาจารย์เกาหลีตอบกลับไปว่า ถ้าไม่ยอมเสียเวลาเรียนรู้ของเก่าที่ฝรั่งทำได้เมื่อวันก่อนแล้ว วันนี้ตนคงไม่สามารถสร้างของใหม่ที่ก้าวล้ำนำหน้าไปได้ ถ้าไม่เคยรู้ว่าของเก่าทำขึ้นมาได้อย่างไร ไม่เคยรู้ว่าของเก่าดีอย่างไร ของเก่ามีข้อเสียมีข้อจำกัดอย่างไร วันนี้จะไปคิดหาของใหม่ที่ดีกว่าของเก่าขึ้นมาได้อย่างไร
วันนี้จะไปรู้วิธีทำของใหม่ที่ดีกว่าของเก่าได้อย่างไร ถ้าไม่เคยรู้ว่าโทรศัพท์มือถือรุ่นที่หนึ่งสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่เคยรู้ว่าโทรศัพท์รุ่นที่หนึ่งมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง วันนี้จะมาสร้างโทรศัพท์มือถือรุ่นที่สาม สำหรับยุคอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าต้องเพิ่มเติมขีดความสามารถใดๆ เสริมเข้าไปกับโทรศัพท์รุ่นที่หนึ่ง หรือต้องเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรม ของโทรศัพท์มือถืออย่างไร จึงจะได้โทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ดีกว่าเก่า ดังนั้น ก่อนที่จะคิดแซงหน้าใคร วันนี้ต้องสามารถทำได้ เหมือนกับที่เขาเคยทำได้เสียก่อน วันนี้ต้องเก่งให้เท่ากับที่เขาเคยเก่งเมื่อวาน เพื่อวันหน้าจะได้แซงหน้าเขาได้
บ่อยครั้งที่พบว่าผู้คนพากันตั้งความหวังไว้กับเครื่องมือใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ หรือแม้แต่กติกาใหม่ๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้ว่าของเก่าที่คนอื่นเขาใช้กันนั้นมันมีข้อดีข้อเสียหรือเหมาะสมกับตนเองแค่ไหน เห็นใครเขามีของใหม่ก็หวังแต่จะใช้ของใหม่แบบเขา แล้วกะว่าจะแซงเขาให้ได้ท่าเดียว จะใช้ของใหม่ของเขาวิ่งแซงเขา แต่ไม่เคยรู้ว่าของเก่าที่เขากำลังใช้อยู่นั้นจะใช้ได้ดี ไม่ดี กับตนเองแค่ไหน
ถ้าดูตัวอย่างบริษัทในเกาหลี จีน และญี่ปุ่น จะเห็นภาพชัดเจนว่า พวกเขาเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่ฝรั่งเคยทำได้เมื่อวาน ให้ได้ในวันนี้ก่อน วันแรกๆ ที่ทำตามของฝรั่งก็ดูเป็นของที่ดีไม่เท่ากับที่ฝรั่งทำ หลังจากนั้น ก็อาศัยความรู้ และประสบการณ์ที่ได้บวกกับความตั้งใจ และความมุมานะพยายาม เดินหน้าพัฒนาจนกระทั่งทำของใหม่ที่ดีกว่าฝรั่งได้
ในบางองค์กร ผู้คนยังชื่นชมอยู่กับการที่นั่งดูท่าวิ่งของคนอื่นแล้วฝันไปว่า ถ้าลุกขึ้นวิ่งเมื่อใดแล้ว จะแซงหน้าเขาให้ได้ พอถึงเวลาลุกขึ้นวิ่งจริงๆ ก็วิ่งไปได้ไม่ไกล วิ่งไม่เร็วอย่างที่คิด พอเห็นคนอื่นไปถึงเส้นชัยแล้วก็ทำใจไม่ได้ พยายามแก้ตัวใหม่ว่าทิศทางที่วิ่งไปนั้นไม่ถูกต้อง เส้นชัยที่ไปถึงก็ไม่มีประโยชน์ ใครจะไปถึงแล้วก็ช่าง ไม่สำคัญกับฉัน แล้วก็เรียกร้องหาเส้นชัยใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายก็ยังเป็นเส้นชัยของคนอื่นอีกนั่นแหละ
ในองค์กรเช่นนี้ ถ้าเห็นใครพยายามเสาะหาความรู้เก่าๆ ของคนอื่นมาทำเองให้ได้ คนนั้นจะถูกเหยียดหยามว่าล้าสมัย เสียเวลาไปกับของเก่าอย่างไร้ประโยชน์ ผู้คนกลับไปชื่นชมกับคนที่ชักชวนให้ไปใช้ของใหม่ของคนอื่น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีปัญญาทำของเก่าได้เทียบเท่าที่คนอื่นเขาทำไว้แล้ว
องค์กรที่มีผู้คนเช่นนี้จะอยู่กับวังวนของการแสวงหาแบบเสี่ยงโชคอยู่เสมอไป เป็นองค์กรที่สนุกตื่นเต้นกับของใหม่อยู่เสมอ แต่ไม่เคยจริงจังกับการสร้างความสามารถที่แท้จริงใดๆ ให้เกิดขึ้นจากของใหม่นั้น ความเก่งที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็นการประชุมเพื่อหาของใหม่ หากติกาใหม่ หาวิธีทำงานแบบใหม่ แต่เป็นแค่ค้นหากันเฉยๆ ไม่ได้ใส่ใจเอาจริงอย่างต่อเนื่อง ก็เลยไม่เคยเก่งจริงกันสักอย่าง
แต่กลับมีผู้เชี่ยวชาญเต็มไปหมด เพราะใครๆ ก็เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญได้ ผู้คนให้ความเห็นไปได้ทุกเรื่อง เรียนมา ทำงานมาด้านหนึ่งแต่ไปให้ความเห็นอีกเรื่องหนึ่งได้อย่างมั่นอกมั่นใจ ให้ความเห็นนอกสาขาความเชี่ยวชาญของตนแล้ว ใครมาให้ความเห็นโต้แย้งก็โกรธเสียอีกแทนที่จะยอมรับฟัง องค์กรที่มีผู้คนเช่นนี้จะเป็นองค์กรที่คู่แข่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คู่แข่งที่เคยแข่งกันมาก่อนแล้ววันหนึ่งก็ก้าวล้ำหน้าไปก็เลยต้องเปลี่ยนไปแข่งขันกับคู่แข่งที่วันวานเคยอยู่ข้างหลัง เวียนไปเวียนมาเช่นนี้ตลอดไป
ดังนั้น ขอให้ลองคิดถึงคำพูดที่ว่าจะสร้างของใหม่ให้ดีกว่าที่คนอื่นเขามีใช้กันอยู่ โดยมิได้มองดูว่า วันนี้สิ่งที่คนอื่นเขาใช้อยู่นั้น เราเองก็ยังไปไม่ถึง วันนี้ยังเก่งไม่เท่าเขา แล้ววันหน้าจะมีเครื่องมือวิเศษที่ใช้แซงหน้าเขาได้จริงหรือไม่ ลองคิดดูดีๆ คำตอบคงหาได้ไม่ยากแน่นอน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น