วันอังคาร, พฤศจิกายน 17, 2552

เศรษฐกิจกับมาบตาพุด


คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้ โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4158

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้านั้น น่าจะเคลื่อนโดยการฟื้นตัวของการส่งออก และเม็ดเงินจากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของการส่งออกนั้นเป็นการพึ่งพาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็มีความเสี่ยงว่าการฟื้นตัวของประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ยั่งยืนเพราะประชาชนยังมีหนี้สินมาก และอัตราการว่างงานก็ยังเพิ่มสูงขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็ได้ทำอย่างเต็มความสามารถแล้ว คือปริมาณเงินที่ภาครัฐทั้งโดยรัฐบาล และธนาคารกลางเข้าไปสนับสนุนเศรษฐกิจนั้นน่าจะประมาณ 20% ของจีดีพี(ไม่รวมการค้ำประกันสินเชื่อตราสารหนี้ ฯลฯ) ซึ่งจะต้องถอดถอนออกมาบ้างตั้งแต่ครึ่งหลังของปีหน้า ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าหากลดความเข้มข้นของมาตรการของรัฐลงไปแล้ว ภาคเอกชนจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องเพียงใด
ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2010 จึงจะพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะภัทรฯ คาดว่าการขาดดุลงบประมาณในปีหน้านั้นน่าจะมากถึง 6-7% ของจีดีพี ซึ่งรวมทั้งโครงการหลายพันโครงการของไทยเข้มแข็งและการขาดดุลงบประมาณปกติ ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เมื่อรวมนโยบายการคลังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 3.5% ในปีหน้าทั้งนี้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ย้ำเสมอว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะที่ไม่แข็งแรงมากนัก ดังนั้นนโยบายการเงินจึงน่าจะผ่อนปรนไปอีกถึงปลายปีหน้า หมายความว่าหากไม่จำเป็นจริง ๆ ธปท.ก็จะหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงจะเป็นสัญญาณว่าดอกเบี้ยไทยจะต้องปรับขึ้นตาม
แต่การฟื้นตัวโดยปัจจัยข้างต้นเป็นการฟื้นตัวระยะสั้น กล่าวคือจะไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องได้มากนัก นอกจากนั้นการพึ่งพาการส่งออกก็ยังอาจต้องเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้า ซึ่งผมเชื่อว่าจะเริ่มรุนแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป เนื่องจากการว่างงานในสหรัฐและยุโรป จะปรับตัวขึ้นสูงถึงระดับที่นักการเมืองจะต้องถูกกดดันให้สร้างงานในประเทศ และการกล่าวโทษชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะเอเชียน่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากเอเชียแทรกแซงมิให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า เพื่อปกป้องการส่งออกของตัวเอง ซึ่งจะกระทบกับการจ้างงานในสหรัฐและยุโรป ที่สำคัญคือในสหรัฐ จะต้องมีการเลือกตั้งกลางสมัยประธานาธิบดี คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 435 คน วุฒิสภาอีกประมาณ 1/3 และผู้ว่าการมลรัฐต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ในปลายปี 2010 จึงมีความเป็นไปได้สูงว่ากลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสหภาพจะต่อรองให้นักการเมืองผลักดันมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาการว่างงาน โดยแลกกับการให้การสนับสนุนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
กล่าวโดยสรุปคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยืนอยู่บนขา ข้างที่ไม่มั่นคงถาวรคือการส่งออก (ในยุคที่ลูกค้ายังอ่อนแอง่อนแง่น) ละการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งเป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้นการลงทุนของภาคเอกชนไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำมาซึ่งเสถียรภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะการลงทุนนั้นนอกจากจะเป็นการเพิ่มการใช้จ่ายและการจ้างงานในปัจจุบันยังเป็นการสร้างกำลังการผลิต และการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
โครงการลงทุน 76 โครงการที่มาบตาพุดนั้นถือว่าเป็นการวางรากฐาน ของการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทย กล่าวคือโครงการที่มูลค่ารวม แสนล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนด้านปิโตรเคมี โรงกลั่น โรงไฟฟ้า และโรงถลุงเหล็ก ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน 4-5 ข้างหน้าได้หรือไม่
ภาคอุตสาหกรรมสำคัญมากเพียงใดนั้น เห็นได้จากสัดส่วนการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือตั้งแต่ปี 1980 (เริ่มต้นโครงการมาบตาพุด) เกือบจะพูดได้ว่าประเทศไทยมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ยุทธศาสตร์เดียว คือการใช้พื้นที่มาบตาพุดและชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เพื่อเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าเมื่อปี 1980 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 25% ของจีดีพีใกล้เคียงกับภาคการเกษตรที่ 19% ของจีดีพี แต่อีก 30 ปีให้หลังปรากฏว่าภาคการเกษตรลดเหลือเพียง 9% ของจีดีพีเพราะขยายตัวเพียงปีละ 3.1% ในขณะที่อุตสาหกรรมขยายตัว 7.8% ต่อปี ทำให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทยคือเท่ากับ 40% ของจีดีพี จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงกว่าจีดีพีโดยรวมปีละ 34% ในขณะที่ภาคการเกษตรขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีปีละ 46% หากพิจารณาภาคการผลิตและบริการอื่น ๆ ก็จะพบว่าไม่มีภาคใดเลยที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องเหมือนกับอุตสาหกรรม
ผมไม่ได้สรุปว่า การลงทุนมาบตาพุดจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเห็นได้ชัดจากข้อมูลที่นำเสนอโดยภาคประชาชนว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อยู่จริง ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก็เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงนี้อีกครั้ง พร้อมกับการสะท้อนว่ารัฐบาลยังมิได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลเองก็เริ่มดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และข้อเรียกร้องของภาคเอกชน แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถทำให้เกิดการยอมรับ และความสอดคล้องกับเงื่อนไขทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญได้ภายในต้นปีหน้าตามที่ภาครัฐได้ให้สัญญาไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ห่วงว่าการดำเนินการทางกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งกระบวนการควบคุมมลพิษ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและการอนุมัติโครงการต่าง ๆ จะล่าช้าไปอีกหลายเดือนหรือยาวนานกว่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะ 4-5 ปีข้างหน้าอย่างที่ภาครัฐไม่มีศักยภาพที่จะเยียวยาหรือลดผลกระทบได้ เพราะภาครัฐเองก็กำลังสร้างหนี้สินเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่สามารถเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่น 30 ปีที่ผ่านมา หากเป็นเช่นนั้นก็แปลว่าปี 2009-2010 นี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่ง เพราะหากจะไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมแล้ว ผมเชื่อว่าภาคอื่น ๆ เช่น ภาคการเกษตรจะไม่สามารถขยายตัวในอัตราสูงพอที่จะทดแทนได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น แอนิเมชั่น (animation) ก็มีขนาดเล็ก และใช้แรงงานที่แตกต่างจากแรงงานภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังมีขนาดเล็กและมีความผันผวนสูง การจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (medical hub) ก็คงจะต้องวางแผนเตรียมการอย่างมาก จากการประเมินคร่าว ๆ จะเห็นว่าภาคเศรษฐกิจที่น่าจะนำมาทดแทนภาคอุตสาหกรรมได้นั้นรวมกันแล้วไม่น่าจะมีขนาดเกินกว่าครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ จึงต้องสรุปว่าหากปัญหามาบตาพุดยืดเยื้อก็ต้องรับสภาพว่าจะต้องมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ และระหว่างการปรับตัวดังกล่าว การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าอาจจะไม่สามารถขยายตัวได้ถึง 4-5% ต่อปีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น